บทวิจารณ์ The THAI Beatles โดย รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล นักวิจารณ์สยามรัฐ

สี่เต่าทอง...สี่เต่าไทย

โดย รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล นสพ.สยามรัฐ วันเสาร์ที่ 21 ธ.ค.2562

ถ้าจะให้นึกถึงค่ายเพลงเล็กๆบ้านเรา ที่ผลิตผลงานเพลงไม่เอาใจตลาด ซึ่งหมายรวมถึงชื่อเสียงของ “ศิลปิน” ที่เป็นผู้นำเสนอ-ถ่ายทอด หลายคนทีเดียว-ที่เอ่ยขึ้นมาแล้วมีเครื่องหมายคำถามในใจ ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ด-ธรรมรัตน์ แก้วมั่น หรือ กุ๊ก-อรสุรางค์ อุดจัง รวมไปถึง โอ๋-ชุติมา แก้วเนียม และอีกหลายต่อหลายคน แต่หากได้ฟังเสียงร้องของพวกเขาและเธอแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็น “นักร้องตัวจริง” อ้อ! รวมถึงการนำเอาเสียงเก่าๆอย่าง สวีทนุช ให้กลับมาได้รับความนิยมด้วย

ล่าสุด บรรณ สุวรรณโณชิน เจ้าของค่าย ใบชาซอง ที่เป็นทั้งนักดนตรี, นักร้อง, นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ หนึ่งในผู้มีจิตใจห้าวหาญ ในการสร้างสรรค์ความแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ตามท้องตลาด ลงทุนครั้งใหญ่กับการซื้อลิขสิทธิ์เพลง เดอะบีเทิ่ลส์ มาบันทึกเสียงใหม่ ฟังดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร เพราะมีการทำลักษณะนี้มานักต่อนัก มีออกมาให้ฟังกันตั้งแต่ป๊อป, ร็อค, อาร์แอนด์บี, โซล, แจ๊ซ, คันทรี, บลูส์ จนถึงคลาสสิก เรียกว่าทำกันมาครอบคลุมแทบทุกแนว แต่ บรรณ ก็ยังหา “หนทาง” ใหม่ๆให้กับการทำอัลบั้มคัฟเวอร์เพลงที่ผ่านการ “ทำใหม่” มามากมายขนาดนี้...ได้อย่างน่าสนใจ

ด้วยการวางคอนเซปต์เป็น “บีเทิ่ลส์แบบไทยๆ” เพลงทั้งหมดในชุดนี้จึงมีความเป็นไทยโดดเด่น - แต่ยังคงความเคารพต่อต้นฉบับ - โดยเฉพาะตัวดนตรีที่ บรรณ เลือกใช้เครื่องไทยเป็นหลักเคียงไปกับเครื่องสากลได้ลงตัว สื่อสารสำเนียงแต่ละท้องถิ่นออกมาชัดเจน จัดประเภทง่าย ๆ เป็น “ลูกกรุง-ลูกทุ่ง-เพลงพื้นบ้าน” กลุ่มใหญ่หน่อยก็คือลูกทุ่งที่มีทั้งลูกทุ่งกลางและลูกทุ่งอีสาน-ที่อย่างหลังนี้ ก็มีสีสันแตกต่างกันออกไปอีก อย่าง “I Feel Fine” ที่แฝงกลิ่นหมอลำผสมของ รัสมี เวระนะ หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ รัสมี อีสานโซล เช่นเดียวกับ “Norwegian Wood (This Bird Has Flown)” โดย อนิล สุวรรณโชติ ที่โทนรวมเบากว่า หรือ “Day Tripper” (เบิร์ด-ธรรมรัตน์) กับ “Oh! Darling” (กุ๊ก-อรสุรางค์) เป็นลูกทุ่งภาคกลาง เพลงแรกมาทางเพลงรำวง ฉิ่งฉาบมาครบ ส่วนเพลงหลังมาทางหวานไพเราะ

วินัย พันธุรักษ์ และ สุนทรี เวชานนท์ เป็นสองนักร้องรับเชิญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดแล้ว ไม่มีข้อสงสัยอื่นใดอีกในคุณภาพเสียงและการตีความ วินัย กับเพลง “Girl” มาในทางลูกกรุงหวานๆทางถนัด ในวัย 70 กว่า เรียกว่าตัวเลขอายุไม่ใช่อุปสรรค น้ำเสียงนุ่มนวลนั้นยังคงแข็งแรงเหลือเชื่อ ขณะที่ สุนทรี มากับความเป็นล้านนาขนานแท้ใน “When I’m Sixty-four” อ่อนหวานล้ำลึกเมื่อฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องยกความดีให้กับ รังสรรค์ ราศี-ดิบ ที่จัดการทุกอย่างให้ออกมากลมกล่อมพอเหมาะพอดี ทั้งเสียงร้องที่คง “ตัวตน” ของศิลปิน ทั้งดนตรีพื้นเมืองที่สอดรับไปกับเสียงร้อง ถือเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของอัลบั้มนี้ได้เลย ส่วนเพลงตัวแทนภาคใต้เป็น “Lucy in the Sky with Diamonds” โดย โอ๋-ชุติมา ที่มี สหัศ สุวรรณชล มาร้องเป็นลูกคู่ ซับซ้อนกว่าเพลงอื่นๆ

เพลงในทาง “ไทยแท้ๆ” ยังมี เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ กับการขับเสภาอันเป็นลายเซ็นส่วนตัวใน “Come Together" ที่ร้องได้ดุดัน มีแรงดึงดูด สมกับเป็นเพลงเปิด (ไม่นับ “Welcome to the Beatles” อินโทร.สั้นๆโดย สวีทนุช) เพื่อนร่วมเวที เดอะ วอยซ์ อย่าง แนท-บัณฑิตา ประชามอญ อวดเสียงสวยแข็งแรงของเธอในลีลาไทยเดิมที่เนิบช้าแต่มีเสน่ห์ใน “Across the Universe” และ “Help!” เพลงปิดท้ายที่ครึกครื้นสนุกสนานกันแบบไทยแท้ๆ จริงๆ โดยวงพื้นบ้านประสานเสียงสองหนุ่มสองสาว จัดเพลงฉ่อยแบบไทยปนสากลได้อร่อยเหลือเกิน กระทรวงวัฒนธรรม หรือ การท่องเที่ยวฯ ควรพิจารณานำเพลงนี้ไปโปรโมท

สิบเพลงใน The Thai Beatles ไม่ถึงกับลงตัวหรือสมบูรณ์แบบในทุกเพลง แต่อย่างน้อยที่สุด นี่ถือเป็นผลงานที่กล้าหาญที่สุดชุดหนึ่ง ที่นำเอาเพลงขึ้นหิ้งของ เดอะ บีเทิ่ลส์ มาทำใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง และทำออกมาแล้ว...ไม่อายใคร!
อยากให้สนับสนุนผลงานดีๆแบบนี้กัน สนใจติดต่อได้ที่ www.baichasong.com
ขายของกันดื้อๆแบบนี้แหละ

ที่มา https://siamrath.co.th/n/122228?fbclid=IwAR1PEF2Vue5wTaFPY3Ak3DVlyh3JJ60G5XfP5cUrwBCAXr-LEG52CCkbP6g

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้