< 50 ปีแห่งความหลัง >
สุรพลคลับ
-----
จวบจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุแน่ชัดของการลอบสังหาร "ราชาลูกทุ่ง" สุรพล สมบัติเจริญ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2511 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราคงจะไม่มีวันได้รู้ความจริง สุรพลมีอายุเพียงแค่ 37 ปีตอนนั้น และเราก็ไม่มีทางจินตนาการได้เลยว่ามันจะมีบทเพลงอมตะอีกมากมายแค่ไหนที่รอจะถือกำเนิดจากสมองของเขา แต่ถึงจะมีเวลาบนโลกนี้อันแสนสั้น สุรพลก็ฝากผลงานการประพันธ์เพลงระดับตำนานไว้มากมาย ที่ทุกวันนี้ยังเป็นที่รู้จักกันดี หลายเพลงเนื้อเพลงยังทันสมัยมาก
งาน 'songbook' นี้เกิดจากมันสมองของคุณ บรรณ สุวรรณโณชิน โปรดิวเซอร์หนุ่ม เจ้าของค่ายเพลง "ใบชาซอง" นี่ไม่ใช่งาน songbook ครั้งแรกที่เขาทำ เขาเคยจับงานของครูสุรพล โทณะวณิก, วงชาตรี, ชรัส เฟื่องอารมย์, ครูสมาน กาญจนะผลิน ฯลฯ มาแล้ว แต่ "สุรพลคลับ" งานล่าสุดของค่ายใบชานี้ ดูจะน่าสนใจและอลังการเป็นพิเศษ มีความชัดเจนในแนวทาง และศิลปินที่มาร่วมก็เบอร์ดังๆทั้งนั้น
เพลงของสุรพลมีความโดดเด่นและแตกต่างจากครูเพลงคนอื่นๆ มันเต็มไปด้วยความขี้เล่น อารมณ์ขันสไตล์หยิกแกมหยอก ฟังแล้วอารมณ์ดี แต่บทจะเศร้าสะเทือนใจ สุรพลก็กลั่นหัวใจเขียนมันออกมาแบบกระชากน้ำตาคนฟังกันหมดเบ้า ท่วงทำนองนั้นเล่าก็ไพเราะติดหู ร้องตามกันได้อย่างง่ายดาย แต่ยากยิ่งนักที่จะลืม
ก่อนที่จะฟัง "สุรพลคลับ" ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านี่คืองานในสไตล์ "ตีความใหม่" ไม่ได้ร้อง-เล่นในแบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่ถึงกับฉีกออกไปหลุดขอบกาแลกซี่ จึงต้องเปิดใจกว้างนิดนึง
เพลงดังๆของสุรพลมีมหาศาล จนน่าจะทำออกมาได้หลาย volumes (ภาวนาให้ชุดนี้ขายดีๆด้วยเถิด) แต่บรรณและทีมงานคัดออกมาเนื้อๆแค่ 11 เพลง (มี 1 เพลงที่เล่นโดยสองศิลปิน) เล่นและร้องโดยศิลปิน 12 ท่าน ทั้งศิลปินของค่ายใบชาเองและศิลปินรับเชิญที่คุณคงจะคุ้นเคย
แต่ละท่านเลือกเพลงและทำมันในสไตล์ของพวกเขาเอง ใส่ความเป็นตัวตนของพวกเขาลงในบทเพลงคลาสสิกเหล่านั้นด้วยโดสกำลังพอเหมาะ ไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อซ้ำซาก แต่ก็ไม่แปลกประหลาดจนจำไม่ได้ว่านี่มันเพลงอะไร
เพลงเด่นๆมีมากมาย คุณ นภ พรชำนิ ทักทายคนฟังด้วยแทร็คแรก "มอง" เพลงชมหญิงที่ชวนระทวยที่สุด เสียงนุ่มๆของนภมีเสน่ห์เสมอ การแอดลิบช่วงท้ายทำได้สนุกสนาน กลายเป็นเพลงริธึ่มแอนด์บลูส์หล่อๆไปอย่างงดงาม , r-bu ขับร้องเพลงเอกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก "สิบหกปีแห่งความหลัง" เขาร้องด้วยน้ำเสียงของคนผ่านชีวิตมามากมายจริงๆ ถ่ายทอดทั้งความปวดร้าว และปลดปลงทำใจ ถ้าตั้งใจฟังดีๆจะพบว่าสุรพลเขียนเนื้อร้องไว้ได้ลึกซึ้งเหลือเกิน สิบหกปีที่ผ่านไป มันสั้นเหมือนสิบหกวัน แต่พอเธอจากฉันไปแล้ว สิบหกวันนั้นยาวนานเหมือนสิบหกเดือน...สิบหกปี อัจฉริยะแท้ๆ
ฟอร์ด สบชัยเลือกร้อง "หัวใจผมว่าง" ในแบบที่ครูสุรพลน่าจะพยักหน้าหงึกๆและยิ้มตามไปด้วย การสอดเนื้อร้องภาษาอังกฤษเป็นบทพูดเข้ามานั้นมันปังจริงๆ (ถ้าไม่ใช่ระดับฟอร์ดอาจจะออกมาน่าหมั่นไส้) , ดา อินคา ตีความ "รอยไถแปร" ราวกับนี่คือ Eagles ยุคกลาง เสียงสไลด์กีต้าร์โดดเด่น ดา ร้องได้อารมณ์สุดๆแห่งความสูญเสีย โดยเฉพาะตอนจบที่เป็นเอ็คโค่ก้องกังวานไปทั่วท้องทุ่ง, เสียงหวานๆของคุณชมพู ฟรุ๊ตตี้ เหมาะเหลือเกินกับ "หงส์ปีกหัก" เผลอๆคิดไปว่านี่กำลังฟังเทปวงฟรุ๊ตตี้อยู่หรือเปล่า
สินเจริญบราเธอร์ส มามอบความฮาเฮด้วย "บ้านนี้ฉันรัก" มีเสียงเครื่องเคาะ (หรือปรบมือ) สะดุดหูตลอดเพลง (คนข้างๆผมบอกว่า เหมือนเสียงซ่อมบ้าน), อู๋ ธรรพ์ณธร เลือก "ดำเนินจ๋า" มากรีดร้องในสไตล์อัลเทอร์เนทีพ ร็อค บัลลาด มันเป็นไปได้จริงๆ เพลงของสุรพล สมบัติเจริญ ในแนวอัลเตอร์! เวิร์คอย่างเหลือเชื่อครับ
ถ้าจะนับกันที่การร้องอย่างเดียว คุณ โอ๋ ชุติมา น่าจะเป็นไฮไลต์ของสุรพลคลับ ในเพลง "ด่วนพิศวาส" เธอร้องได้ขาดใจจริงๆ เป็น show-stopper ไปเลย, ก่อนที่จะเครียดกันเกินไป เจ้าบ้าน คุณบรรณ มาครื้นเครงด้วย "หนาวจะตายอยู่แล้ว" ที่เขาร้องได้สนุกพอๆกับการโชว์ฝีมือคีย์บอร์ดอันร้ายกาจ, "หรีดรัก" เศร้าที่สุดในอัลบั้ม ร้องโดยคุณ ทวีพร เต็งประทีป ดนตรีมีแต่เครื่องสาย ราวกับ Eleanor Rigby, คุณเหน่ง เดอะ วอยซ์ มาปิดอัลบั้มด้วยเพลงดังมากมายอีกเพลง "น้ำตาจ่าโท" ที่เขาร้องเน้นคำแบบบลูส์ จ่าโทคนนี้จึงดูเข้มแข็งเป็นพิเศษไม่มีการเอื้อนอ้อยสร้อยแต่อย่างใด
ปิดท้ายด้วยเสียงแซ็กของคุณภาสกร โมระศิลปิน ในเพลง "สิบหกปีแห่งความหลัง" อีกครั้ง แต่เพลงนี้มันพิเศษเกินไป ถึงจะไม่มีเสียงร้อง คุณก็จะได้ยินเนื้อเพลงไปตลอดเพลงในหัวของคุณอยู่ดี
การบันทึกเสียงเป็นไปในสไตล์ของค่ายนี้ คือเน้นความบริสุทธิ์ของเครื่องดนตรี มีการปรุงแต่งเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ตัวซีดีเป็นแผ่นทอง สวยงามไร้ที่ติ
เป็นงานแนว tribute, songbook ที่ฟังเพลินมากครับ ต่อให้คุณไม่คุ้นเคยกับเวอร์ชั่นเดิมๆของครูสุรพล ก็น่าจะยังรับฟังได้อย่างบันเทิง ส่วนแฟนเก่าแก่ของท่าน ก็น่าจะชอบนะ ผมว่า เพราะไม่มีเพลงไหนทำให้ของเก่าเสียหายเลย กลับจะช่วยต่ออายุให้บทเพลงอมตะเหล่านี้ด้วยซ้ำไป