"ใบชาซอง" เรโทรแบบไทย ฮิตแบบป๊อปๆ ได้ในความร่วมสมัย
หากใครยังจำได้ถึงน้ำเสียงของ ‘สวีทนุช’ ในเพลง “รักยุคไฮเทค” เมื่อ 5 ปีก่อน ที่เกิดเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมาด้วยสไตล์เพลงแบบลูกกรุง มีกลิ่นอายของความเป็นสุนทราภรณ์แบบเก่า แต่เนื้อเพลงกลับร่วมสมัยถูกใจวัยรุ่นแห่งยุค ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง “ใบชาซอง (baichasong) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2546 ค่ายเพลงที่มุ่งมั่นนำเอกลักษณ์ของเพลงแบบคลาสสิคอย่างเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง มาแต่งด้วยเนื้อเพลงใหม่ที่เข้ากับยุคใหม่ จนเกิดฐานแฟนเพลงหลากหลายช่วงวัย ใบชาซองก่อตั้งโดย บรรณ สุวรรณโณชิน ที่มีจุดยืนสำคัญอยู่บนการมุ่งมั่นสร้างสรรค์เนื้อเพลงที่ดี จรรโลงสังคม สอดแทรกแนวคิดและมุมมองใหม่ๆ พร้อมๆ กับการบันทึกเสียงด้วยมาตรฐานที่นักแต่งเพลงให้การยอมรับ การใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้ทำให้เพลงจากค่ายใบชาซองนั้นถูกหูและถูกใจผู้ฟังหลายคนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน
ค้นหาสิ่งใหม่และไม่ผลิตซ้ำ
แนวทางการทำงานของใบชาซองคือการไม่ทำอะไรซ้ำเดิม เพิ่มเติมความกล้าทดลองในการเปลี่ยนโครงดนตรี หลีกหนีการคัฟเวอร์มาสู่เพลงที่แต่งเนื้อร้องเอง โดยในฐานะหัวเรือใหญ่ บรรณต้องวางกลยุทธ์ให้กับนักร้องในค่ายแต่ละคนว่ามีความเหมาะสมกับเพลงแนวไหน โดยพิจารณาจากน้ำเสียงและความสามารถในการร้อง เพลงจากค่ายใบชาซองจึงมีความหลากหลายของแนวเพลง เพราะมีทั้งลูกกรุง ลูกทุ่ง ไทยเดิม ร็อค ป๊อป
บรรณเติบโตมาจากการหล่อหลอมด้วยการฟังเพลงยุคเก่า ทั้งลูกกรุง ลูกทุ่ง แม้ในช่วงแรกที่ทำเพลงก็ยังไม่เกิดผลอะไรที่ทำให้เป็นที่รู้จัก จุดเปลี่ยนสำคัญคือการทำสวีทนุช อัลบั้มแรก มีการทำดนตรีใหม่ที่ไม่เหมือนสุนทราภรณ์ และเนื้อเพลงที่โดนใจวัยรุ่น ความฮิตแบบ “ทั้งบ้านทั้งเมือง” นั้นเป็นเหมือนการแสดงให้เห็นถึงทิศทางของการทำเพลงที่ถูกต้อง ทำให้เข้าใจการทำงานและหันมาสนใจกับแนวทางใหม่ๆ แบบนี้มากขึ้น ใบชาซองจึงเริ่มต่อยอดจากชุดนี้ให้เป็นเหมือนกับหลักไมล์สำคัญในการเดินหน้าสู่ทิศทางใหม่ในอนาคต
ตัวอย่างผลงานเพลงล่าสุด “ห้าเสียงหล่อ” 5 บทเพลงที่ขับร้องโดยนักร้องชายเสียงคุณภาพอย่าง ชรัส เฟื่องอารมณ์, รุ่งโรจน์ ดุลลาพันธ์, ทวีพร เต็งประทีป, ศุษณะ ทัศน์นิยม และนรินทร์ ประสพภักดี ที่ได้รับเกียรติเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดบทเพลงรักอมตะของครูมนัส ปิติสานต์ ที่บรรรกล่าวว่า อัลบัมนี้นั้นบันทึกเสียงใน Baichasong’s Living room หรือห้องนั่งเล่นของใบชาซอง เพื่อเป็นการสร้างความแปลกใหม่ ทดลองสิ่งอื่น นอกเหนือจากสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ฟังแล้ว ยังเป็นการสร้างความตื่นเต้นให้กับคนทำงาน เพื่อรับรู้ร่วมกันว่าความแตกต่างของการบันทึกเสียงแต่ละแบบนั้นเป็นอย่างไร ท้าทายวิธีการทำงานให้ไม่เหมือนแบบเดิม
“ถ้าทำอะไรตามกระแส เราจะถูกดูดกลืนหายไปเลย เพลงของใบชาซองจึงต้องฟังนานๆ และค่อยๆ ซึมซับด้วยความละเมียดละไม เคยมีคนฟังถามว่าบันทึกเสียงมาดีไหม แต่เรามองว่าเพลงทุกเพลงควรฟังเนื้อเพลงและการเรียบเรียงเป็นหลักก่อน เมื่อคำร้องทำนองเพราะ แล้วบันทึกเสียงที่ดีด้วยจะส่งให้ทั้งเพลงยิ่งดีขึ้น”
เมื่อแอนาล็อคปะทะความทันสมัย
ในมิติของการหวนกลับไปหาเสน่ห์ของความเป็นเรโทรและนำมาตีความหมายใหม่นั้นเกิดเป็นความน่าสนใจ แต่ในอีกมิติหนึ่งคือการเป็นค่ายเพลงขนาดเล็กก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์การมาถึงของความเป็นดิจิทัลที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน “ดิจิทัลบุกตลาดจนวงการแย่ลงในแง่ของการซื้อขาย แต่มีข้อดีคือเกื้อหนุนศิลปินที่ไม่มีชื่อเสียงให้ได้” บรรณกล่าวในฐานะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องโดยตรง “ยิ่งเรามีดิจิทัลมากขึ้นเท่าไหร่ การซึมซับของคนฟังยิ่งน้อยลงเท่านั้น ค่ายเพลงรายได้น้อยลงจากความเป็นดิจิทัล ถ้าเมื่อก่อนเทียบกับแผ่นเสียงและซีดี ดังนั้นค่ายเพลงจึงต้องหาที่แสดงเพื่อเป็นรายได้ ซึ่งได้แต่เฉพาะศิลปินที่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ในยิ่งแง่หนึ่งถ้าไม่มีความเป็นดิจิทัล เราจะไม่มีโอกาสเห็นเพลงจากศิลปินหรือไอเดียใหม่ๆ จากโซเชียลหรือยูทูปเลย”
เช่นนี้แล้ว ใบชาซองจึงปรับวิธีการทำงานในฐานะค่ายเพลงที่ต้องมีการควบคุมคุณภาพโปรดักชั่นให้เข้าที่เข้าทาง บรรณจะรับหน้าที่เข้าไปบริหารการทำงานในทุกกระบวนการเท่าที่ทำได้ เรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การ Mix mastering ออกแบบหน้าปกซีดี จนถึงการจัดจำหน่าย เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้ตามต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ใบชาซองทิ้งท้ายไว้ว่า การทำเพลงนั้นไม่ต่างกับการทำงานศิลปะ ที่หากคิดจากคนทำจริงๆ แล้ว ผลงานทุกอย่างก็จะไม่เหมือนใคร และไม่มีผิดหรือถูก วิธีทางการสื่ออารมณ์นั้นเกิดขึ้นกับเฉพาะคน เหมือนเพลงของใบชาซองที่คนฟังจะสามารถรับรู้ได้ถึงเอกลักษณ์อันเฉพาะตัวและยากที่จะลอกเลียนแบบได้