การแปลงกายให้ไทยเป็นแจ๊ซ/ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ / โดย ต่อพงษ์ / 2 กรกฎาคม 2552
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้วที่เขียนถึง "บรรณ สุวรรณโณชิน" บุรุษหนุ่มใหญ่ที่ผมเคยกย่องไว้ว่า เขาได้เปิดหน้าใหม่ของวงการเพลงไทยให้พ้นไปจากความน่าเบื่อหน่ายจากงานชุด "สวีท นุช"
แต่ครั้งนี้เขียนเพราะอยากจะเชียร์หลังจากที่ฟังงานของแกที่มีชื่อว่า “บรรณ แปลงกาย on my jazz” มาหลายเดือน ย้ำนะครับว่าไม่ได้เพิ่งจะออก แต่งานนี้ออกมาหลายเดือนแล้ว เพียงแต่คุณไก่ทีมงานของหน้าบันเทิงแกยึดเอาไปฟังก่อน ก็เลยไม่ได้เขียนถึงซักกะที
ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ขอตั้งข้อสังเกตเอาไว้นิดหนึ่งเกี่ยวกับสภาพแจ๊ซในเมืองไทย เพราะมหกรรมคอนเสิร์ตแจ๊ซนี่ผมว่าจัดบ่อย และคนไทยก็นิยมที่จะไปดูเสียด้วย แต่ไหงยอดขายอัลบั้มแจ๊ซมันไม่กระเตื้องเท่าที่ควร คล้ายๆ กับว่าคนฟังไม่ได้เพิ่มตามอัตราผันแปรกับคนดูแจ๊ซตามงานคอนเสิร์ตเลย
สำหรับคอนเซ็ปท์ของงานชุดนี้ก็สั้นๆ คือ การเอาเพลงแจ๊ซที่โรแมนติกของโลกนี้…ย้ำว่าของโลกนี้ มาเรียบเรียงใหม่และใส่เนื้อให้เป็นภาษาไทย
ความจริงการคัฟเวอร์เพลงแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เมืองไทยทำมานานแล้วตั้งแต่ยุคครูเอื้อ ยุคลูกกรุงก็มีหลายเพลงและหลายคนที่เอาเพลงจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาแปลงกันใหม่ พอยุคดิสโก้ ไทยเราก็มีดอน สอนระเบียบ และเศรษฐา ศิระฉายา มาช่วยร้องเพลงเนื้อไทยใจฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น เหล่านี้ ยุคแกรมมี่อาร์เอสก็ทำกันเยอะเพียงแต่ขอเหนียมที่จะบอกว่าไม่ได้ก็อปใครมา แต่คิดเองทำเองทั้งนั้น(แหวะ)
แต่ก็แปลกที่ยังไม่มีใครคิดจะเอาแจ๊ซมาทำให้อยู่ในอารมณ์เทียบเคียงกับต้นฉบับ และคุณบรรณแกเป็นคนแรกที่ ‘คิด’ อย่างจริงจัง และผลงานชุดนี้คือข้อพิสูจน์ว่า แก ‘ทำ’ มันอย่างจริงจังเสียด้วย!!
การทำอัลบั้มโดยเอาเพลงแจ๊ซสุดโรแมนติกของโลกมาเรียบเรียงแล้วใส่เนื้อให้เป็นเพลงไทยนั้นมีความเสี่ยงอยู่สองสามอย่าง ในส่วนของคนที่เคยฟังต้นฉบับเก่าอาจจะนำมาเปรียบเทียบอย่างช่วยไม่ได้ สำหรับคอแจ๊ซนั้นผมคิดว่าทุกคนทำใจได้กับการนำเพลงเก่าที่เคยบันทึกอยู่แล้วมาอิมโพรไวซ์หรือมาเรียบเรียงใหม่ตามความต้องการ ตามวิถีหรือจินตนาการของผู้จัดทำ… แจ๊ซนั้นคือดนตรีแห่งความสนุกของการดัดแปลงอยู่แล้ว ขอให้มันมีโครงสร้างของเพลงดั้งเดิมอยู่หน่อยพอให้คนฮัมได้หรือพอให้คนฟังรู้ว่านี่คือเพลงอะไรนะจ๊ะ จากนั้นก็ค่อยแปลงกายให้เพลงนั้นมีรูปร่างและรสชาติตามที่ต้องการ จะโซโล่เผ็ดร้อน หรือจะด้นกันให้หลุดโลกไปเลยก็ย่อมสามารถที่จะทำ
ความเสี่ยงข้อที่สองก็คือ สำหรับคนที่รักเพลงต้นฉบับหรือเสียงร้องต้นฉบับ คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิดกับเนื้อร้องไทย โดยเฉพาะการถ่ายความหมายของเพลงต้นฉบับให้ออกมา คนที่เขารักเพลงเหล่านี้จะรู้สึกสุดโต่งกับเนื้อเพลงของคุณบรรณได้มากกว่า
อย่างไรก็ตามใครที่ติดตามงานของคุณบรรณมาตลอดก็ต้องรู้ว่า แนวทางการเขียนเนื้อร้องของแกก็เป็นแบบนี้มาตลอดนะครับ คือเนื้อร้องที่กัดพอเจ็บ ขำหน้าตาย ให้อารมณ์เหมือนดูหนังของวู้ดดี้ อัลเลน แบบนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมาเขียนเนื้อลงบนเพลงโรแมนติกที่โรแมนติกมากๆ ของโลกนี้ บางครั้งก็ดูผิดฝาผิดตัว
ก็เหมือนอย่างเพลงอย่าง L-O-V-E เพลงเก่าของ แน้ท คิงโคล ที่คนไทยจำนวนมากรักมันจากหนังเรื่อง Swing Girl เพราะต้นฉบับจริงๆ มันน่ารักสุดกิ๊ก แต่เมื่อเอามาใส่เป็นเนื้อไทยปุ๊บ มันไม่น่ารักได้ประมาณต้นฉบับเลยนะครับ มันได้แค่เพลินดีๆ ขำๆ แต่ขณะที่ “บอกฉันว่าคือเธอ” หรือ ภาคต้นฉบับคือ It Had To Be You ซึ่งหลายคนฟังเพลงนี้ครั้งแรกตอนดูหนัง When Harry Met Sally ตอนนู้น ผมว่ามันไปได้กับเนื้อเพลงต้นฉบับนะครับ
อย่างไรก็ตามมีอีกอย่างที่อยากพูดถึง เพราะความจริงผมอยากจะให้คะแนนเกือบเต็มกับทั้งหมดทั้งปวงในอัลบั้มชุดนี้ แต่บังเอิญถ้าไม่เจอข้อสังเกตที่น่าพูดถึง นั่นคือ เสียงร้องของคุณบรรณแก…มันไม่ได้เลวร้ายครับ แต่ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่แจ๊ซ โดยเฉพาะถ้าบังเอิญไม่เอาไปเปรียบกับแทร็กที่น้องอุ๊บอิ๊บ(นักร้องรับเชิญ)ร้องในแทร็กเดียวกันอย่าง “แปลงกาย”…เทียบเวอร์ชั่นคุณบรรณกับน้องอุ๊บอิ๊บแล้วต้องบอกว่า ความสุขของการฟังต่างกันเยอะ เสียงของคุณบรรณนั้นโอเคในระดับหนึ่ง เพียงแต่มันไม่ Jazzy พอ มันไม่เซ็กซี่พอ มันไม่โรแมนติกมากพอจะทำให้คุณหวานและหวามใจกับดนตรีแข็งปั๋งของแกนะครับ
นอกเหนือจากสองเรื่องนี้แล้ว ผมก็นึกไม่ออกว่าจะมาติอะไร เพราะโดยภาพรวมแล้ว นี่คือการคิดนอกกรอบด้วยความกล้าหาญที่ผมว่ามันน่าสนับสนุนและเชียร์กันต่อเนื่องไปอีก อย่างที่ทราบนะครับว่า คนไทยที่เป็นนักดนตรีหรือคนทำเพลงนั้นเก่งก็เยอะ นิสัยดีก็มาก แต่คนกล้านี่หาได้น้อย วงการเพลงไทยมันถึงได้วนเวียนย้อนรอยไม่ไปไหนเสียที
ไอ้เรื่องดนตรีนั้นต้องยอมรับว่าคุณบรรณแกเก๋าอยู่ เนื้อของดนตรีและเสียงของมันนั้นให้อารมณ์เหมือนงาน Jazz At The Pawnshop ที่คอเครื่องเสียงและคอแจ๊ซนั้นถือว่าเป็นของจำเป็นที่จะต้องมีไว้ในคอลเลคชั่น ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าคุณภาพของการบันทึกจะเด็ดขาดแบบนั้น แต่เปรียบเทียบอารมณ์ความสดนั้นใกล้เคียงกันมากครับ ฟังแล้วเหมือนมีคนกรึ่มๆ มายืนบรรเลงหน้าเตียงเราอย่างงั้นเลย
ที่สำคัญมันสด มันชื่นมื่น และมันได้ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการนั่นคือ น่าจะทำให้คนไทยที่เคยรู้สึกว่าแจ๊ซมันต้องปีนกระไดฟังเพราะอุปสรรคทางภาษาก็จะเปลี่ยนใจ และนั่นอาจจะทำให้สังคมของคนฟังแจ๊ซในเมืองไทยขยายตัวมากกว่าที่เป็นก็ได้ครับ
******************
เพลงในโลกดิจิทัล / เนชั่นสุดสัปดาห์ / ปีที่ 17 ฉบับที่ 880 เม.ย.52 / โดย อนันต์ ลือประดิษฐ์