อาบู” ศิลปินอินดี้มาแรง! เพลงไทยที่แตกต่าง ความงดงามในความไม่เหมือน/บอน บอระเพ็ด manager.co.th 7 กุมภาพันธ์ 2559
“...ฉันบ้า ฉันฝัน ฉันจึงมีอยู่...”
บางถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากใจในบทเพลง “ฉันบ้าฉันฝัน” เปรียบเสมือนการบ่งบอกตัวตนของ “อาบู”(r-bu) กับผลงานอัลบั้มชุดแรกของเขา “The another side of Alienation อีกด้านของความแปลกแยก” ที่เป็นงานเพลงอินดี้ สวนกระแสเพลงไทยแบบพิมพ์นิยม แต่ว่ากลับได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนฟังเพลงที่ชอบความแตกต่าง และอยากฟังอะไรใหม่ๆจากวงการเพลงบ้านเราบ้าง
สำหรับอาบูเขาคือใคร???
อาบู หรือ “ยุวบูรณ์ ถุงสุวรรณ” เป็นหนุ่มใหญ่วัย 40 เศษ ที่แม้จะไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ แต่เขาก็มีความสามารถในการเล่นกีตาร์ ร้องเพลง และแต่งเพลงเอง
อาบู เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านสื่อยุคใหม่เมื่อเขาได้นำบทเพลงของศิลปินอื่นๆมาทำ คลิปวิดีโอร้องเพลง-เล่นกีต้าร์เมื่อหลายปีก่อน และด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้อารมณ์เพลงต้นฉบับแปรเปลี่ยนไป กลายเป็นบทเพลงในสไตล์อาบู(คล้ายๆกับที่ ธีร์ ไชยเดช นำเพลงของคนอื่นมาคัฟเวอร์แล้วเกิดเป็นสไตล์ของตัวเองขึ้นมา)
เพลงในคาแรคเตอร์แบบอาบูมีแฟนเพลงเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบติดตามฟังกัน เป็นจำนวนมาก และมีผู้กดไลค์ติดตามมากมายในเพจเฟสบุ๊ค R-bu Acoustic Ballads พร้อมกันนี้แฟนเพลงจำนวนมากยังเรียกร้องต้องการฟังเพลงที่อาบูแต่งเองอยู่ เรื่อยๆ
นั่นจึงทำให้เมื่อถึงเวลาอันควร อาบูจึงได้นำผลงานเพลงที่เคยแต่งสะสมเก็บไว้ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานอัลบั้มแรกของตัวเอง โดยมีทางค่ายเพลงผู้กล้าหาญชาญชัยอย่าง“ใบชาsong” ภายใต้การคุมบังเหียนของ “บรรณ สุวรรณโณชิน” รับหน้าที่ผลิต จัดจำหน่าย อัลบั้มชุดแรกของอาบู
เหตุที่ผมบอกว่าใบชาsong กล้าหาญชาญชัยนั้น เพราะในยุคนี้ที่ดิจิตัลดาวน์โหลดครองโลก การก็อปปี้เพลงฟรีครองเมือง การจะออกซีอีอัลบั้มเต็มสักชุดไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ขนาดค่ายใหญ่ๆในบ้านเราที่มีศิลปินบิ๊กเนมมากมายยังถอดใจ หรือไม่ก็ต้องลองหยั่งเชิงตลาดด้วยการส่งซิงเกิ้ล และโหมโปรโมทอัดพีอาร์กันจนกว่าจะมั่นใจว่าถ้าทำเป็นอัลบั้มเต็มออกมา จะขายได้ ไม่เจ๊ง!!!
แต่สำหรับใบชาsongไม่ เขายังคงกล้าทำอัลบั้มเต็มออกมา(และทำออกมาอยู่เรื่อยๆ) แถมยังเป็นศิลปินหน้าใหม่อีกต่างหาก
อย่างไรก็ดี แก่นแท้ของผลงานเพลงก็คือตัวเพลง ฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินเพลง ซึ่งอัลบั้มชุดจะเป็นอย่างไร ขอเชิญทัศนากันได้
อัลบั้ม The another side of Alienation อีกด้านของความแปลกแยก มีทั้งหมด 12 เพลง เปิดตัวกันด้วย “ความเมามายมีความดีแค่วินาทีนั้น” กับดนตรีอะคูสติกเสียงกีตาร์ใสๆ เนื้อหาเป็นปัจเจกกับมุมมองที่แตกต่าง ว่าด้วยความดี ความงดงามของการเมามาย แม้จะเพียงแต่วินาที มันก็ยังมีความดีงามของมัน “...แต่ความเมามายให้ความหมายแก่ฉัน วินาทีนั้นมันมีความดี...”
แน่นอนว่าเพลงนี้ย่อมโดนใจนักดื่มหลายๆคนผู้เห็นคุณค่า ความงดงามในความเมามาย แต่คงเป็นที่ไม่สบอารมณ์ สสส. แน่นอน
“ไม่ต้องรักก็ได้” บทเพลงรักในมุมมองของคนกร้านโลก ที่มองความรักอย่างลุ่มลึก กับดนตรีจังหวะปานกลางฟังสบายรื่นหู เนื้อเพลงฟังคมคายในภาษา เนื้อหา และความคิด ดังตัวอย่าง “...ไม่ต้องรักกันก็ได้ แค่เปิดใจยอมรับกัน เห็นความต่างนั้นสำคัญ ความงดงามในความไม่เหมือน...”
“ฉันบ้าฉันฝัน” ที่งดงามน่าฟังไปด้วยดนตรีเศร้าหม่นกับเนื้อหาภาษา บอกเล่าความรู้สึก เหนื่อย ล้า ท้อแม้ แต่ว่ายังคงมีความบ้า ความฝัน จึงทำให้มีวันนี้ “...ถามว่าเหนื่อยมั้ย ใจก็สั่นระริก ชีวิตจะพลิกผันอีกแค่ไหน ล้มมากี่ครั้งพลั้งอีกจะเป็นไร เหนื่อยพักเดียวก็หาย อย่าหมายว่าจะหมดฝัน...”
ฉันบ้าฉันฝันถือเป็นอีกหนึ่งเพลงเอกในอัลบั้มชุดนี้ ที่แม้จะเป็นดังการรำพึงรำพันของอาบู แต่ว่าเนื้อหาฟังแล้ว ให้กำลังใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของคนที่ยังมีไฟของคนที่สู้ด้วยความฝัน และความบ้า
“ฉันคือต้นไม้” กับมุมมองที่แตกต่างมองตัวเองผ่านต้นไม้ ซึ่งหากมองให้ลึกจะเห็นความเศร้าของต้นไม้และธรรมชาติมากมายบนโลกใบนี้ที่ ถูกมนุษย์ทำร้ายทำลาย
ต่อจากนั้นอัลบั้ม ฯอีกด้านของความแปลกแยก ก็ขับเคลื่อนเดินหน้าไปด้วยอารมณ์ เศร้า หม่น โสก กับบทเพลงในมุมมองที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น “ฉันโกหก”, “ฉันคนเลว” 2 บทเพลงที่ให้อารมณ์ต่อเนื่องกัน
“ป่วย”บทเพลงเผยให้เห็นธาตุแท้ส่วนลึกของใครหลายๆ คนในสังคมนี้ ที่ “ป่วย” ซึ่งอาบูขับร้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างถึงอารมณ์ เหมือนคนป่วย(ทางจิต)ไม่น้อยเลย
“หญิงบ้ากับความรัก” บทเพลงที่คล้ายๆกับหนังสั้น ฟิล์มนัว หม่นโศก สะทกสะท้อน บอกเล่าเรื่องราวของหญิงใบ้หูหนวก ผู้ต้องการความเข้าใจ ความรักจริงจากใครสักคน
“ฉันยังอยู่” เป็นดังบทรำพึงรำพันสรุปเรื่องราวของอัลบั้มชุดนี้ เนื้อหาดนตรีแม้ฟังหม่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยพลังแห่งการต่อสู้ ไม่ย่นย่อท้อต่อโชคชะตา
และนี่ก็เป็นบทเพลงเด่นๆ จากอัลบั้ม “The another side of Alienation อีกด้านของความแปลกแยก” กับผลงานดนตรีอะคูสติกบัลลาดในอารมณ์ หม่น มัว นัวร์ เหงา ที่มาพร้อมกับเนื้อหาอันหลากหลาย เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เข้มข้น ทั้งอารมณ์สุข, เศร้า,เหงา, รำพึงรำพัน, ให้กำลังใจ, จินตนาการ และความฝัน ด้วยถ้อยคำ ภาษาอันงดงาม คมคาย ลุ่มลึก บางเพลงเป็นดังบทกวีอันงดงาม ซึ่งมาพร้อมกับวิธีการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์ น้ำเสียง นุ่ม ลึก ของหนุ่มใหญ่ที่ผ่านโลกมาอย่างโชกโชน
หลายๆเพลงฟังเหมือนกับว่าอาบูกำลังบ่น กำลังรำพึงรำพันอะไรให้เราฟัง แต่เมื่อฟังอย่างตั้งใจ(หรือฟังหลายๆครั้ง) ก็จะสัมผัสได้ในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ
อย่างไรก็ดี จุดด้อยของอัลบั้มชุดนี้ก็คือโทนดนตรีโดยรวมที่หากฟังครั้งแรกมันจะหม่น นัวร์ เนิบ จนทำให้หลายๆคนเบื่อ และเลิกที่จะฟังต่อ แต่ว่าถ้าหากฟังไปเรื่อยๆ สัก 3-4 ครั้งขึ้นไป มันจะกลายเป็นความไพเราะคุ้นหู อีกทั้งยังมีรายละเอียดทั้งด้านเนื้อหาและดนตรีให้ค้นหากันอีกมากมาย
นับว่าอัลบั้ม The another side of Alienation อีกด้านของความแปลกแยก เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มสุดเจ๋งชวนฟังแห่งยุคนี้ พ.ศ.นี้กับดนตรีนอกกระแสที่ไม่ตลาด ไม่ได้มาแนวบทเพลงพิมพ์นิยม หากแต่เป็นงานเพลงที่มีความเป็นศิลปะและมีความเป็นตัวตนของศิลปินอยู่สูง
เป็นอัลบั้มที่มีความงามในความแตกต่าง มีความงดงามในความไม่เหมือน เหมาะสำหรับผู้ที่อยากฟังบทเพลงไทยที่แปลกแตกต่าง แต่ว่ามีความงดงามน่าฟัง และมีคุณภาพอยู่เต็มเปี่ยม
****************
The Wave magazine vol 126 Feb 2016
********************
นิตยสารสีสัน 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 โดย ปรารถนา รัตนะสิทธิ์
*******************
audiophile mag. Vol19 no.228 feb 2016