เพลงบนแผง-สวีทนุช เมื่อโลกหมุนช้าลง / เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 827 วันที่ 4 เมษายน 2551 / โดย อนันต์ ลือประดิษฐ์
“ทะเลที่สวยฉันมองไม่นานก็เบื่อ / แปลกใจเมื่อมองดวงตาของเธอได้เป็นวันๆ”
อินโทรเพลงนี้เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องสายย่านความถื่ต่ำคล้ายเชลโล คลอเคล้าด้วยพิคกิ้งกีต้าร์สายไนล่อนตามด้วยเสียงฟลุ้ตที่ล่องลองมาอย่างสดใส กับทางเดินเบสอันอ่อนโยน จากนั้นเป็นเสียงร้องนุ่มๆชวนฝันตามสไตล์ถนัดของ จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ในบทแรก ก่อนจะเป็นเสียงของนักร้องหญิงในบทต่อมา ตามสูตรของเพลงร้องคู่
ดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ด้วยมนต์เสียงร้องของเธอ สะกดคนฟังให้ตกอยู่ในภวังค์ได้โดยพลัน
“หลงมนต์เธอแล้วแม้ไม่รู้ความข้างใน / จะจริงเหมือนใจที่เธอพูดไว้สวยงามดูดี / แต่ฟังแล้วใจชุ่มชื่นสุขขี / ได้ฟังเรื่องดีอยากฟังแบบนี้ไปตลอดวัน”
อาจจะเป็นเรื่องยากแก่การจินตนาการอยู่สักหน่อย หากจะบอกกล่าวให้คุณทราบว่า แนวเพลงตั้งแต่การเขียนคำร้อง – ทำนอง การเรียบเรียงดนตรี บรรเลง ไปจนถึงการบันทึกเสียงของเพลงที่ชื่อ หลงมนต์ เพลงนี้ กับเพลงอื่นๆในอัลบั้ม สวีทนุช ต้นฉบับเสียงหวาน เป็นผลงานใหม่ที่เพิ่งผลิตในช่วงปี พ.ศ. 2550 – 2551 นี่เอง
แต่ด้วยการทำงานที่ไม่แตกต่างจากการเดินทางสู่เสน่ห์เฉพาะตัวของโลกแห่งอดีต ในแบบที่หลายคนเข้าใจว่าเป็น ‘การย้อนยุค’ เมื่อนำผลลัพธ์เหล่านี้กลับมาเล่นซ้ำอีกครั้ง (playback) โลกอันเร่งรีบสับสนวุ่นวายของคนฟัง ก็ดูเคลื่อนไหวช้าลงทันตาเห็น
แต่นั้นอาจเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่สักหน่อย บางบทตอนของเพลง รักยุคไฮเทค น่าจะเป็นตัวอย่างได้ดีในเรื่องนี้
“บนโลกHi-Techทุกอย่างเล็กลง / แต่รักฉันคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม / อยากมีHard DiskลงProgramเสริมเพิ่มRam / พร้อมแจ่มด้วยภาพของเธอที่Desktop”
บนท่วงทำนองที่มีกลิ่นอายยุคละครเพลงเฉลิมไทย-เฉลิมกรุง เสียงร้องที่ถ่ายทอดอักขระไทยแจ่มชัด ด้วยเทคนิคการร้องแบบเพลงไทยยุคเก่าก่อน แน่นอนทีเดียวว่าก่อนยุคสมัยของ ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ ครอบครองพื้นที่สื่อทั้งประเทศมานานกว่าทศวรรษ แน่นอนคุณสมบัตินี้อาจเป็น ‘สิ่งแปลก’ ในสายตาของวัยรุ่นและคนฟังเพลงรุ่นใหม่ แต่การคลี่คลายของงานดนตรีครั้งนี้ กลับไม่ต่างจากการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันเท่าใดนัก
ที่สำคัญมัน ‘คลิก’ เสียด้วย เพราะนี่มิใช่การปัดฝุ่นหรือนำสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ หรือเพียงการอนุรักษ์การแสดงสำเร็จรูปที่แวดวงคนมีบทบาทด้านศิลป์ วัฒนธรรม นิยมทำกันอย่างซังกะตาย แต่ผลลัพธ์นี้คือการต่อยอดความเป็นไปได้ในทิศทางใหม่ๆของวงการดนตรีไทย หลังจากเราอยู่กันอย่างไร้รากมาเป็นเวลานาน
พูดง่ายๆ หลังจากเราชื่นชมดอกไม้ต่างแดน จนแทบไม่รู้จักดอกไม้ไทยเลย ก็ถึงคราวของดอกจำปี ดอกพิกุล ดอกโมก ดอกลำดวน หรือดอกไม้ไทยอื่นๆกันบ้างแล้ว
ผู้อยู่เบื้องหลังอัลบั้มนี้คือ บรรณ สุวรรณโณชิน ที่หลายๆคนอาจจะรู้จักในนาม บรรณ บราซิล อดีตศิลปินค่ายอาร์เอสที่ประกาศความเป็นไท ไม่ยอมศิโรราปต่อค่ายเพลงใหญ่ เขาเป็นผู้บุกเบิกสังกัดอินดี้ ‘ใบชาsong’ ทำอัลบั้มออกมาหลายชุด ไม่ว่จะเป็น พูดพร่ำทำเพลง, สำนวนสวนสัตว์ จนถึง คนบ้าบอล
ผลงานของบรรณ มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อเขาเลือกมาทำงานเบื้องหลังในชุดนี้ ทั้งแต่งเพลงและโปรดิวซ์ โดยร่วมกับนักร้องสตรีรุ่นใหญ่ที่ถือว่าร้องเพลงมาชั่วชีวิต ในนามของ สวีทนุช ซึ่งอาจจะไม่ใช่นักร้องอาชีพที่หลายคนรู้จัก แต่เธอผ่านสนามร้องเพลงมานับไม่ถ้วน ทั้งแนวไทยเดิมและแนวเพลงไทยร่วมสมัย ตั้งแต่ร้องเพลงในวังสวนจิตรลดากับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, ร้องกับ นฤพนธ์ ดุริยพันธ์ ในรายการเพลินเพลงกับนฤพนธ์ ทางช่อง 4 บางขุนพรหม กระทั่งปัจจุบันเธอเป็นนักร้องประจำของวงดนตรีธนาคารออมสิน
ในอัลบั้มนี้นอกจากต้นแบบของการร้องเพลงที่หาฟังได้ยาก ซึ่งศิลปินรุ่นหลังควรมีโอกาสได้เรียนรู้ ถอดบทเรียนและซึมซับประสบการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว สิ่งที่น่ายินดีคือ ภาคดนตรีที่สนับสนุนโดยคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ แม้ในด้านทางเรียบเรียงเสียงประสาน จะมีไลน์ค่อนข้างซ้ำหรือคาดเดาทางได้ คล้ายเพลงสุนทราภรณ์ แต่นั่นกลับเป็นข้อด้อยที่มองข้ามได้ไม่ยากนัก
การเลือกใช้ไวโอลินหรือคลาริเนท ซึ่งเครื่องหลังบรรเลงโดย โก้ เศกพล อุ่นสำราญ บ่งบอกถึงความพิถีพิถันในระดับหนึ่งของโปรดิวซ์ ที่ต้องการให้งานดนตรีได้ซาวน์ดอย่างที่ต้องการ เช่นเดียวกับคุณภาพการบันทึกเสียงที่ให้มิติความเป็นดนตรีอย่างใกล้เคียงเสียงดนตรีจริงมากที่สุด (audiophile) ถือเป็นงานท้าทายสำหรับวงการเพลงไทยเลยทีเดียว
โดยส่วนตัวผมชื่นชอบวิธีการนำเสนอมุมมองของเพลงผ่านคำร้องที่อิงจารีตการเขียนเพลงแบบเก่าได้อย่างน่าทึ่ง ตัวอย่างเช่นเพลง รักคือคำตอบ ที่มีทำนองเลื่อนไหลไปบนชีพจรแทงโก้
“สิ่งที่โลกนี้กำหนดมา / ให้ทุกคนรู้คุณค่าคำว่ารัก / ทุกเชื้อชาติเราต่างต้องยอม..ประจักษ์ / อานุภาพความรักช่าง..ยิ่งใหญ่ / หากพรหมขีดไว้ให้คู่กัน / ไม่มีวันที่ฉันต้องพรากไปไหน / กายแม้ไกลสุดขอบขั้วโลกเท่าไหร่ / ใจเหมือนถูกแรงดึงดูดไว้ให้มาใกล้กัน”
นี่คงมิใช่สิ่งที่ไกลเกินประสบการณ์จริงในชีวิตของคนยุคไซเบอร์กระมัง เช่นเดียวกับเพลง น้องคนนี้ ที่ไวโอลินโชว์ทักษะได้อย่างเอกอุ ส่วนแก้วเสียงของ สวีทนุช ยังสดและใหม่อย่างครื้นเครง ขณะที่ทำนองเพลง คล้ายจะเป็นการแปรทำนองไทยเดิม ให้มีกลิ่นอายกระเดียดไปทางละตินและตะวันตกอย่างแยบยล
เรียนตามตรงว่านับจากผลงานของ โอม ชาตรี เป็นต้นมา นี่คืออัลบั้มศิลปินไทยที่ผมฟังด้วยความรู้สึกเอกเขนก (laid back) เพราะอย่างน้อยๆ โลกแห่งเสียงเพลงหมุนช้าลงแล้ว โลกแห่งความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร...ก็ช่างมัน!!!!
***************************
มองผ่านเลนส์คม – ต้องให้กำลังใจ / หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก /วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2551 /โดย สิริรัตน์ แซ่เบ๊
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ต่างเล่นน้ำดับร้อนกันให้ชุ่มปอดบ้างก็กลับไปทำบุญที่บ้านเกิด ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ บรรยากาศเหล่านี้ย้อนให้นึกถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย การย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น จนรู้สึกชุ่มฉ่ำเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก
บรรยากาศช่างสอดรับให้หยิบแผ่นซีดีอัลบั้ม "ต้นฉบับเสียงหวาน(ดิ ออริจินัล สวีท วอยซ์ ของ สวีทนุช ขึ้นมาฟังหลังจากวางทิ้งไว้หลายวัน แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะช่างเหมาะเจาะเข้ากับช่วงนี้เสียจริงๆ ยิ่งฟัง ยิ่งเย็นใจ
และนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้เห็นความพยายามของคนทำเพลงที่ชื่อบรรณสุวรรณโณชิน ที่ลุกขึ้นมากลั่นกรองบทประพันธ์คำร้อง ทำนอง เรียบเรียงดนตรี และโปรดิวซ์งานเพลงที่เขาเรียกว่าเป็นแนวลูกกรุงคลาสสิกอัลบั้มนี้ออกมา
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะยอมเสี่ยงกับการทำอัลบั้มที่แหวกตลาดแบบพลิกฝ่ามือ โดยหยิบเอานักร้องรุ่นแม่ในวัย 64 ปีมาร้องเพลงลูกกรุงที่แต่งขึ้นใหม่ แต่คงไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากนัก สำหรับ บรรณ ที่เลือกทำงานบนเส้นทางนี้มาหลายปี จากอัลบั้มที่ทำเอง กระโดดไปลองของในค่ายใหญ่ จนหันเหออกมาเปิดค่ายเพลงทำงานเองอีกครั้ง ด้วยแนวทางที่ชัดเจนแม้จะไม่สอดคล้องกับรายได้
แม้บางคนจะออกแนวเหน็บแนมว่าอัลบั้มสวีทนุชเป็นการทำเพื่อสนองความฝัน และความต้องการของคนใกล้ชิด ด้วยเหตุที่นักร้องเป็น แม่ยาย ของตัวบรรณเอง แต่นั่นคงเทียบไม่ได้กับความตั้งใจที่จะสร้างผลงาน ซึ่งเป็นทางเลือกให้แก่วงการเพลง ไม่ได้ปล่อยให้ตลาดวัยรุ่นครองเมือง อัดโปรโมทกันแบบไม่คำนึงถึงคุณภาพ
ด้วยภาคดนตรีที่เป็นอะคูสติกบรรเลงอิงลูกกรุงดั้งเดิมด้วยเสียงร้องจริงของนักร้องรุ่นใหญ่ที่หวานซึ้งเสนาะหู บวกกับเนื้อหาที่ถูกเขียนขึ้นอย่างละเมียดจากปลายปากกาของบรรณ ทำให้พานนึกเปรียบเทียบกับเพลงไทยสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผัน
การได้นั่งฟังอัลบั้มนี้จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้หันกลับไปมองคุณค่าของเพลงที่เมื่อก่อน อาจจะถูกมองว่าคร่ำครึว่ามีเสน่ห์เพียงใด และยังทำให้คนรุ่นคุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ ได้ชุ่มชื่นหัวใจได้บ้าง ว่ายังมีพื้นที่เสพความบันเทิงของตัวเองหลงเหลืออยู่บ้าง แม้จะน้อยเต็มที
หากแต่งานเหล่านี้คงไม่มีบ่อยครั้งนักและอาจเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าคนกลุ่มใหญ่ในสังคมยังมองข้าม ได้แต่หวังว่าจะมีคนที่เห็นคุณค่า เป็นกำลังใจให้คนทำงานในอีกมุมมองได้มีพื้นที่ยืนต่อไป
*************************
Vinyl ต้นฉบับเสียงหวาน - GM2000 mag. โดย ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
************************
Music Review นิตยสารสีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2551 / “ไม่มี ไร คูเดอร์ แต่มี บรรณ” (สวีทนุช ต้นฉบับเสียงหวาน) /โดย ปรารถนา รัตนะสิทธิ์
อัลบั้มนี้ของ บรรณ ถือเป็นงานหักดิบ ทลายกำแพงของตัวเอง เป็นการย้ำว่า บรรณ คือแบรนด์ดนตรีคุณภาพที่ไม่จำกัดขอบเขต สวีทนุช นักร้องเสียงสวรรค์ ได้ยินน้ำเสียงของเธอแล้วให้คิดถึงภาพแม่ นอนฟังวิทยุคลื่นหนึ่ง มีแต่เพลงโบราณที่แม่ชอบอย่างมีความสุข เป็นรางวัลของชีวิตที่เหลือ
ถือเป็นความกล้าหาญในการสร้างสรรค์ สวีทนุช หลังจากปีที่แล้ว บรรณ สุวรรณโณชิน เพิ่งออกอัลบั้ม “คนบ้าบอล” เรียกว่านอกจากกล้า-เข้มแข็งแล้ว ยังทุ่มหมดตัว และขยันมาก
ถ้า “บราซิล” เป็นงานทดลอง “สำนวนสวนสัตว์” น่าจะเป็นการแนะนำตัวตอกย้ำที่ยืน และ “คนบ้าบอล” คือการฝังแบรนด์ในตลาดดนตรี “ต้นฉบับเสียงหวาน” ของสวีทนุช ก็คืออิสรเสรีที่ไม่ต้องรอคอยอีกต่อไป เมื่อเขาไม่ยอมอยู่ในกรอบ จึงไม่ต้องใส่ใจกระแส ไม่ต้องวิ่งตามแห่ ไม่เหนื่อย เพราะอยู่เหนือกระแส อีกทั้งมีทีมมาเสริมเพิ่มเติม จึงทำให้ สวีทนุช ที่ไม่เป็นที่รู้จักในระดับป๊อปปูลาร์ แต่เมื่อเสียงเธอสามารถตรึงผู้ฟังไว้ได้ ใครกันจะสนใจว่าเธอคือใคร
การบริหารความฝันนั้น บรรณ สุวรรณโณชิน นอกจากแต่งเนื้อร้อง-ทำนองเองทั้งหมดแล้ว เขายังมีผู้ช่วยที่ดีอย่าง พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง มาร้องเพลงคู่ มีไวโอลินระดับปรมาจารย์ มี โก้ แซ็กซ์แมน และทีมเวิร์คชั้นดี
เพลงโดนใจ ฟังไปยิ้มไป ด้วยดนตรีละมุน มีตั้งเพลงเปิดอัลบั้ม “รักยุค Hi-tech”... “บนโลก Hi-tech ทุกอย่างเล็กลง / แต่รักฉันคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม อยากมี Hard disk / ลง Program เสริมเพิ่ม Ram พร้อมแจ่มด้วยภาพของเธอที่ Desktop…”
แล้วยังมีเพลง “คำหยาบ” เปิดด้วยแซ็กซ์ฯเนิบๆ เนื้อหาน่ารักเข้าข้างตัวเอง ฟังแล้วอดอมยิ้มไม่ได้, “หลงมนต์” เพลงคู่หวานๆกับ พี่จุ้ย, “รักคือคำตอบ” เปิดด้วยอินโทรอลังการ ก่อนส่งเสียงซาวน์ดเก่าๆ เนื้อหาซึ้งใจ “อ้างฟ้าอ้างฝน” เสียงตัดพ้อในซาวน์ดที่เคยได้ยินเมื่อวัยเยาว์ แบบนี้แม่ชอบ, “แจกันดอกไม้” เพลงคู่ถกเถียงปัญหาที่ผู้ชายอยากให้มีดอกไม้ดอกเดียวในแจกัน เพลงนี้ บรรณ ร้องนำเอง ส่วน “ชีวิตฉันมีแต่เธอ” อินโทรไพเราะ เนื้อหาดี เป็นอารมณ์เพลงรุ่นแม่ที่สามารถกลับคืนมาได้
ฟังอัลบั้มนี้แล้ว ทำให้หยิบอัลบั้ม Buena Vista Social Club มาดูหน้านักดนตรีอาวุโสในคิวบา พร้อมอ่านถ้อยคำที่ ไร คูเดอร์ บันทึกไว้บนปกว่า “this music is alive in cuba, not some remnent in a museum”
แม้ ไร คูเดอร์ ไม่มาพบเจอดนตรีบ้านเรา ก็ยังดีที่มี บรรณ ขุดเพลงเหล่านี้ออกมาจากพิพิธภัณฑ์
******************
บทสัมภาษณ์ บรรณ....ปัจจัยแห่งปรากฎการณ์ สวีทนุช (November 10th, 2008)
กว่าจะลงมือเขียนเรื่องนี้ได้ ก็ใกล้จะตก “เทรนด์” เต็มที แต่พอเข้า hi5 ของสวีทนุชแล้วก็ยังเห็นแฟนเพลงวัยรุ่นของ คุณนุชมา “เม้น” อยู่ไม่ขาดสาย ประกอบกับยังคงมีคำถามค้างคาใจอยู่ว่า อะไรหนอทำให้เพลงทำนองลูกกรุงที่ ขับร้องด้วยเสียงหวานๆต้นฉบับแท้ๆ (ที่เด็กวัยสิบกว่าๆ ไม่น่าจะรู้จัก) อย่างเพลง “รักยุค Hi-Tech” ฮิตติดลมบน ชนิดขึ้นอันดับเพลงฮิตของแฟต เรดิโอ คลื่นวิทยุขวัญใจเด็กแนวไปได้ (หรือแม้แต่คลื่นที่เจาะกลุ่มมหาชนกว่าอย่าง ซี้ด เรดิโอ ก็เช่นเดียวกัน) ปรากฎการณ์แบบนี้ทำให้เราไม่อยากปล่อยเรื่องนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ และถ้าจะตอบข้อสงสัยนั้นอย่างง่ายๆ ก็คงไม่พ้นคำตอบที่ว่า “ก็เพลงแปลกหู เนื้อร้องทันสมัย แต่ทำนองและเสียงร้อง เป็นแบบเก่า ขัดแย้งกันดี” แต่เราว่าไม่น่าจะใช่แค่นั้น…
ความขัดแย้งที่สะดุดหู เมื่อได้พูดคุยกับคุณบรรณ สุวรรณโณชิน โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม “สวีทนุช ต้นฉบับเสียงหวาน” ของ
คุณนุช - วรนุช กนกากร คุณบรรณเล่าว่า เขาตั้งใจทำเพลงลูกกรุงขนานแท้ โดยนักร้องหญิงผู้มีเสียงหวานแท้จริง เจาะกลุ่มคนฟังที่เป็นผู้ใหญ่ หาใช่วัยรุ่นไม่ แต่การที่เขาแต่งเนื้อเพลงด้วยศัพท์คอมพิวเตอร์ ที่ไม่ค่อยจะพบเห็นใน เพลงรักนั้น เป็นความถนัดและเรียกได้ว่าเป็นสไตล์เฉพาะตัวของเขามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ก่อนที่คุณบรรณจะมาทำค่ายเพลงเล็กๆ ในชื่อ ใบชา กรุ๊ป เขาเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่มาก่อน ความสามารถในการทำงานเพลงของคุณบรรณนั้นไม่เป็นรองใคร เขาเคยแต่งเพลงที่รวมเอาชื่อนักฟุตบอล บราซิล 29 คนไว้ในเพลงเดียวกันสำเร็จ และยังเคยรวมเอาชื่อสำนวนไทยที่เกี่ยวกับสัตว์ 30 สำนวนไว้ได้ในเพลง “สำนวนสวนสัตว์” เป็นต้น
ความถนัดในการแต่งเพลงรวมชื่อของคุณบรรณนำไปสู่เพลง “รักยุค Hi-Tech” ได้ไม่ยาก และเมื่อความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างเสียงร้องหวานแหลมแบบต้นฉบับลูกกรุง กับดนตรีในยุคนั้นที่เด็กอายุสิบกว่าๆ ไม่เคยคุ้น และศัพท์แสงคอมพิวเตอร์ที่ไม่คิดว่าจะมาอยู่ในที่เดียวกันได้ ทำให้เพลง “รักยุค Hi-Tech” กลายเป็นรสชาติใหม่ ที่ทำให้คนฟังสะดุดหู แปลกใจ และติดใจขึ้นมาในที่สุด
เมื่อถามถึงแฟนเพลงของอัลบั้มนี้ คุณบรรณบอกว่า “มีตั้งแต่เด็กน้อยวัย 8 ขวบ 10 ขวบ ไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากก็จะเป็นวัยรุ่นประมาณ 17 -19 ปี เพลงนี้ได้กลุ่มแฟนเพลงกว้างมาก ผู้ฟังวัย 30 กว่า ก็อินได้ไม่ยาก แต่เดิมอัลบัมนี้ตั้งใจทำมาเพื่อกลุ่มผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่วัย 30 ขึ้นไปเป็นหลัก เพราะผมคิดว่าผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยมีเพลงใหม่ๆฟัง เพราะเพลงสมัยนี้ก็ทำออกมาเหมือนๆกัน รองรับเด็กวัยรุ่นเป็นส่วนมาก ในอัลบั้มนี้ก็มีเพลง “รักยุค Hi-Tech” และเพลง “คำหยาบ” เท่านั้น ที่ฟังดูวัยรุ่นหน่อย นอกนั้น ก็เป็นเพลงกึ่งกวีกึ่งโบราณ เราไม่ได้ตั้งใจทำให้วัยรุ่นตั้งแต่แรก“
สื่อออนไลน์ทรงพลังและพฤติกรรมการบริโภคเพลงในยุคไฮเทค
ด้วยความตั้งใจที่จะทำเป็นอัลบัมเพลงลูกกรุง ขายเสียงหวานจากต้นฉบับแท้ๆ และไม่ได้คาดหวังผลตอบรับอะไรมาก ใบชา กรุ๊ป จึงยังไม่ได้ส่งเพลงไปวางขาย หรือส่งไปประชาสัมพันธ์ที่สถานีวิทยุใดเลย
“แต่ไปตั้งกระทู้ไว้ที่เว็บพันทิปว่า “วงการเพลงยังพอมีพื้นที่ให้นักร้องอายุ 65 ไหม” แล้วสร้างลิงค์ให้ไปฟังเพลง รักยุค Hi-Tech ที่กระปุกดอทคอม ปรากฏว่าฮือฮาน่าดู หลังจากนั้นไม่กี่อาทิตย์ก็ถูกลิงค์ไปที่ bloggang และ hi5 เต็มไปหมด เพื่อนโทรมาบอกว่าเพลงดัง กลายเป็นกระแส ไปไหนๆใครๆก็เปิด” คุณบรรณเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม นี่อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เพลงนี้ดังขึ้นมาได้ การใช้สื่อออนไลน์นั้นแม้จะไม่ได้ผ่านสายตามหาชน แต่ว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเยี่ยมยอด โดยเฉพาะผู้เล่นกระดานสนทนาในเวปพันทิป ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกลุ่มคนประเภท“แฟนพันธุ์แท้” ในวงการต่างๆ (แบ่งกลุ่มไปตามหัวข้อสนทนา) และเว็บนี้ก็มีผู้เข้าใช้บริการวันละหลักแสนคน เมื่อนำเพลงที่มีของอยู่แล้วไปไว้ในพันทิป ก็ถือว่ามาถูกทางเลยทีเดียว เพราะมันเข้าถึงกลุ่มผู้คนที่มีความชอบเฉพาะด้านชอบของแปลกใหม่ และเมื่อเพลงน่าสนใจจริงก็กระจายไปปากต่อปาก (ลิงค์ต่อลิงค์) เร็วขึ้นยิ่งกว่าสื่อใดๆ และท้ายที่สุดก็ถูกนำไปเปิดกันในคลื่นวิทยุจนยิ่งกระทั่งกลายเป็นเพลงฮิต อีกปัจจัยอยู่ที่พฤติกรรมของคนฟังเพลงสมัยนี้ ซึ่งไม่ได้ฟังทั้งอัลบั้มแต่ดาวน์โหลดกันเฉพาะเพลงที่ชอบ หน้าไหนจะดังได้ จึงอยู่ที่ตัวเพลงเป็นสำคัญ
“ผมว่ายุคนี้เป็นยุคของตัวเพลง ศิลปินอาจไม่ได้มีพลังพอ ใครก็ตามที่เคยดังมาแค่ไหน ถ้าเพลงไม่ดีก็แป้กเอาง่ายๆ วัยรุ่นเสพที่ตัวเพลง เพราะบางทีก็ไม่เคยเห็นซีดีด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าศิลปินหน้าตาอย่างไร เพลงนี้ใครร้อง ใครแต่ง ต่างจาก สมัยก่อนที่เรายังดูปกเทป ปกซีดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มันอยู่ที่เพลง เพลงดี เนื้อร้องดี ทำนองดี แล้วค่อยสาวไปที่ตัวศิลปินว่า อ้อ คนนี้ทำเพลงนี้ เพลงนี้ของใคร เดี๋ยวนี้ไม่ว่าวงการไหนๆ ธุรกิจ โฆษณา หรือวงการเพลง ทุกวงการต้องแข่งขันกันที่ไอเดีย ใครมีสิ่งที่แปลกใหม่และลงตัวก็เอามาสู้กัน รักยุค Hi-Tech ก็คือคำตอบที่ใช่“
แบรนด์ใบชา
ค่ายเพลงอิสระเล็กๆที่กำลังเดินอยู่ท่ามกลางกระแสดาวน์โหลดเพลง คงต้องมีคนถามว่าจะอยู่ได้อย่างไร ในมื่อยอดขายซีดีไม่น่าจะครอบคลุมต้นทุนการผลิตได้ สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือ มีหลายค่ายที่ปรับกลยุทธ์มาขายเพลงที่ดาวน์-โหลดได้ในราคาถูก ไปจนถึงให้ดาวน์โหลดฟรีเลย เพื่อให้มีแฟนเพลงติดตาม จากนั้นก็หันไปเอาดีด้านการแสดงสดเป็นอีกภาคที่เสียงจากแผ่นซีดีทดแทนให้ไม่ได้
แต่สำหรับใบชา กรุ๊ป เขาบอกว่ายุคดาวน์โหลด MP3 ไม่ได้กระทบเขามาก เพราะในฐานะค่ายเพลงเล็กๆ ยอดขายที่ลดลงก็ไม่เป็นปัญหาใหญ่ (เพราะแต่เดิมก็ไม่มีกำไรอยู่แล้ว) แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตั้งใจทำมากๆก็คือ “การบันทึกเสียง”เพราะในกลุ่มผู้ที่ฟังเพลงอย่างจริงจังและกลุ่มคนเล่นเครื่องเสียงนั้น คุณภาพเสียงที่ดีมีความหมายมาก คนกลุ่มนี้จะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการฟังจากไฟล์ MP3 และการฟังจากแผ่นดีๆ คุณบรรณเล่าให้ฟังว่าเขากำลังทำอย่างนั้นอยู่
“ตอนนี้คนเห็นโลโก้ก็จะรู้ว่าค่ายนี้บันทึกเสียงดี ผู้ฟังที่เน้นเรื่องคุณภาพเสียงและดนตรีจะรู้ทันทีเลย รู้ว่าเอาของเราไปฟังได้แน่นอน ใบชากำลังสร้างแบรนด์ให้ก้าวไปสู่เส้นทางนี้อยู่“
เราถามถึงแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนรู้จัก ใบชาเองก็เคยหว่านซีดีประชาสัมพันธ์ให้ตามคลื่นวิทยุต่างๆ
“แต่แน่นอนว่าค่ายใหญ่ก็ไม่เปิดเพลงเรา เพลงไม่ดังก็ไม่เปิด หลังๆ ก็เลยไม่ได้ส่ง อย่างสวีทนุช เราก็ส่งน้อยมาก แต่พอดังเกิดเป็นกระแสขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่าไปหาจากไหนมาเปิดจนได้ แต่ถ้าเพลงไหนเขาไม่สนใจ ป้อนใส่ปากก็ไม่มีทางเปิดให้ เราคิดว่าถ้าเพลงดีจริงก็จะขายตัวมันเองได้อยู่ดี“
ที่มา : ปัจจัยแห่งปรากฎการณ์ สวีทนุช ของเพลงยุคลูกกรุงที่ครองใจวัยรุ่น
****************
Software Must-Have ต้นฉบับเสียงหวาน /โดย ภมรเดช หัสเนตร /นิตยสารAudiophile Vol.12 NO.137 July 2008
ผมรู้จัก “พี่จุ้ย” มานานแล้วครับ ก่อนรู้จัก “คุณบรรณ” คนสร้างสรรค์อัลบั้ม บรรณ บราซิล, สำนวนสวนสัตว์, คนบ้าบอล และล่าสุดก็ สวีทนุช ชุดนี้ซะอีก ความ จริงพี่จุ้ยเขาอาจไม่คุ้นเคย (คงนึกว่าหมอนี่เป็นใครฟะ) สมัยผมเรียนนิเทศศาสตร์ ราชภัฎสวนสุนันทา เคยเชิญพี่จุ้ยมาบรรยายเรื่องสื่อสารมวลชน (จำได้เลาๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาแล้ว) เสียงพูดของพี่เขาในวันนั้นหรือวันไหนๆ เมื่อถูกขยายเกนหลังไดอะแฟรมไมโครโฟนแล้วจะกังวานสดใส ยิ่งถ้าใส่อารมณ์ผสมเอื้อนเสียงเหมือนร้องเพลงด้วยแล้ว ความหล่อใสในเส้นเสียงดูว่ามีเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ พอกับความใจดีมีเมตตาฉาบทาในเส้นและน้ำ(เสียง)นั้น
งานเพลงพี่จุ้ยได้จุดพลุให้อารมณ์ผมไล่จับอารมณ์พี่จุ้ยไปมาเมื่อฟังทุกครั้ง และเป็นการวิ่งไล่จับแบบคว้าทันซะด้วย ความที่พี่จุ้ยมีฝีมือฉวัดเฉวียนในการร้องเพลงและเล่นดนตรี โดยเฉพาะกีต้าร์กับมีลีลาเขียนเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ บอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์เพลินๆรอบตัว อย่างสายลม แสงแดด และชีวิต ภาษาอินเทรนด์ว่า “ชิลล์ ชิลล์” นั่นแหละ (พี่จุ้ยเป็นนักเดินทางตัวยง นักเขียนหนังสือตัวกลั่น เคยเป็นเจ้าสำนักหนังสือหลายเล่มรวมทั้งศิษย์สะดือ-หนังสือไปยาลใหญ่) ทำให้สำเนียงร้องและวิธีเขียนเพลงแบบเล่าเรื่องของ คุณศุ บุญเลี้ยง (ขอเรียกเต็มยศนะ) สื่อสารความเข้าใจไปยังคนฟังได้ค่อนข้างชิลล์ ตีความแล้วสบายอกสบายใจ แต่ไม่ถึงกับคูลจนฟังแล้วชีวิตนิ่งงันไม่อยากทำอะไร ตรงข้ามกลับอยากลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่ในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเหมือนท้าทาย จิตใต้สำนึกลึกๆ ให้มองโลกในแง่ดีแง่สวยมากขึ้นอย่างเช่น ทำกับข้าวชุดใหญ่ให้คนรักชิมแบบไม่กลัวเปลือง วิ่งลงชายหาดทั้งรองเท้าแบบไม่หวั่นโดนอะไรบาดเท้า หรือเข้าป่านอนดูดาวคนเดียวเพราะไม่กลัวอะไรในป่า ฯลฯ หรือว่าศิลปินชอบผลิตไอเดียให้แตกฟองชอบสร้างแรงบันดาลใจกับตัว แล้วเผื่อแผ่ให้คนฟังงานของตน สุดแต่ว่าจะเก็บเกี่ยวขูดลอกได้แค่ไหน ถ้ามีมากมีพอดี (เจ้าแรงบันดาลใจนี่น่ะ) จะช่วยให้เรา (ทั้งคนฟังทั้งศิลปินดนตรี) สร้างสรรค์อะไรต่ออะไรมากมาย โดยไม่ก่อเอฟเฟ็กต์ Negative แก่คนรายรอบ
คุณบรรณกับคุณพี่จุ้ยของผม เป็นศิลปินที่ใช้ชีวิตเดินเข้าเดินออกวงการดนตรีมานาน ผมไม่กล้านับวงการอื่นที่คนทั้งสองคร่ำหวอดมา ซึ่งพอคะเนได้ว่ามีผลต่อประสบการณ์การเล่าเรื่องและขีดเขียนคำพูด เมื่อต้องการสื่อเป็นเนื้อเพลงให้มีสาระชวนฟัง และ “โดนใจ” คนฟังเมื่อตีความหมายในขั้นละเอียด
นอกจากเรื่องแรงบันดาลใจหยิบสิ่งรอบตัว มาสร้างเป็นดนตรีในแนวทาง Art Music แบบไทยๆแล้ว สิ่งที่ผมรู้สึกว่าทั้งคู่เหมือนกันอีกก็คือ เป็นศิลปิน “เกือบดัง” เกือบดังของผมคล้ายกับ “เป็นที่รู้จักในวงกว้าง” แต่มีดีกรีน้อยกว่าและก็ไม่ถึงกับ “ไม่ดัง” เหมือนศิลปินอีกหลายท่านที่เดินผิดจังหวะ (บ้างเดินเร็วไป บ้างเดินช้าไป) จังหวะชีวิตที่ถูกสั่งสมในการออกผลงานเพลงของทั้งสอง ไม่โลดโผนตื่นเต้นเหมือนยิงพลุตูมขึ้นฟ้า แต่มีความร้อนคล้ายเหล็กในเตาเผาที่หลอมประสบการณ์ดนตรีให้มารวมกัน ผ่านตัวโน้ต ตัวอักษร และตัวตนผ่านมุมต่างๆ ตามคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่เกิดขึ้น ทำให้สภาวะ “เกือบดัง” ที่ผมเรียก แฝงด้วย “ความน่าสนใจ” จนกลายเป็นอารมณ์ “Must-Have” ติดในใจและกระเป๋าสตางค์ ยามต้องควักจ่ายเพื่อแลกคุ้มกับความสุนทรีย์ที่เปี่ยมด้วยไอเดียนำเสนอล้น เหลือจากงานดนตรีของทั้งสองคน เรียกว่า เป็นความอมตะทางคอนเซ็ปต์อัลบั้มและมุมดนตรี ที่ดูอย่างไรก็มากกว่าอมตะทางตัวเลขจัดจำหน่ายอัลบั้ม
บ่อยครั้งที่ผมรู้สึกว่าแม้อายุเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ทำให้ประสบการณ์ดนตรีหรือรูปร่างหน้าตาทั้งคู่เปลี่ยนไป จัดว่ามีสภาพ “Flat” เหมือนอีควอไลเซอร์ที่ไม่ถูกปรับเบสและเทรเบิ้ล ผมชอบฟังเสียง “Flat” มากกว่ายกทุ้มเร่งแหลมสุ่มสี่สุ่มห้า และมัก “ปลื้มใจ” เมื่อได้ยินเพลงอันแสดงตัวตนของทั้งสอง (บวกอายุที่เพิ่มขึ้น) ดังจากชุดเครื่องเสียงที่ไว้ใจ (ยอมรับว่าระยะหลัง ผมชอบฟังเพลงพี่จุ้ย ซึ่งตรงกับเวลาที่ Sweetnuj และงานของคุณบรรณเริ่มมีคนพูดถึงพอดี)
ครั้งล่าสุดที่สองคนนี้ทำให้ผมปลื้ม หลังเคยเกิดขึ้นคราววิจารณ์อัลบั้มคนบ้าบอลของบรรณไป มีเรื่องราวน่าสนใจให้ต้องพูดถึงเชิงชมเชยหลายอย่างครับ
“คุณบรรณ สุวรรณโณชิน” เป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเขียนการ์ตูน รวมถึงนักคิดที่มีไอเดียกระฉูด พิสูจน์จากผลงานออกจำหน่ายในปี 2547 (ชุดบรรณ บราซิล ทำกับค่ายอาร์เอส) ปี 2548 (ชุดสำนวนสวนสัตว์) จนล่าสุด (ชุดคนบ้าบอล) รวมถึงอัลบั้มก่อนหน้าที่ทำกับมือดีในวงการดนตรีบ้านเราอีกหลายอัลบั้ม (ชุดพูดพร่ำทำเพลง/ชุดสอแซ็ก) ความโด่งดังของคุณบรรณแม้ไม่เปรี้ยงปร้างชั่วข้ามคืนเหมือนศิลปินหน้าใหม่ ที่ผ่านเวทีประกวดร้องเพลงแบบเปิดโหวต แต่ก็ถือว่าอยู่ในชั้นแถวหน้างานดนตรีแนวแจ็ส เร็กเก้ หรือบอสซาโนวาของเมืองไทยที่มีแนวเอนเอียงเฉียดเพลงเพื่อชีวิตอยู่สักหน่อย ในแง่เนื้อร้องและ Theme หลักของอัลบั้ม
สำหรับผมในฐานะคนฟัง “ดนตรี” แบบพิถีพิถัน เมื่อได้อ่าน Theme บนปกอัลบั้ม จึงพอทราบถึงทิศทางงานเพลงและสิ่งที่ศิลปินอยากจะสื่อสารถึงคนฟัง บ่อยครั้งที่เลิกฟังอัลบั้มชุดนั้นเลยเพียงแค่อ่านข้อความบนปกพร้อมฟังเพลง จนครบ แล้วไม่ Get หรือ “ไม่โดน”
แต่งานชุดนี้ของบรรณ โดนผมเข้าจังเบ้อเร้อ ถึงเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญแบบสะสมแต้มของคนสร้างงานด้านนี้ ในจุดที่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม จากประสบการณ์สั่งสมไอเดียตกผลึก รวมถึงความใจกล้าใจเย็นชนิดไม่สนสิ่งใด (ผมไม่อยากนับรวมถึงเม็ดเงินตอบแทนแรงเชียร์ หรือการมีหน้าตาในจอทีวี ซึ่งถือเป็นกระจกบานใหญ่ ใช้ส่องวัดความโด่งดังจากค่านิยมที่ผุดขึ้นของสื่อต่างๆ ทั้งเคลื่อนไหวได้และไม่ได้ ตามมาตรวัดความสำเร็จที่คนทั่วไปใช้กัน)
จากความรู้สึกผม ศิลปินเพลงบ้านเราจะโด่งดังยาวนานก็ด้วยเหตุ 2 ปัจจัย คือ 1. มีผลงานต่อเนื่อง เพื่อมิให้คนฟังลืมหน้า เลือนเสียง และผลงานจะต้อง “กระแทก” ความรู้สึกคนฟังทุกเวลาและทันท่วงทีต่อเหตุการณ์บ้านเมือง หรือถ้าไม่ใช่ฟิลลิ่งนี้ ก็ต้องหยิบยก “ความรัก-กำลังใจ” มาเป็นประเด็นทำเพลงให้อบอุ่น (นึกถึงน้าแอ็ดและพี่เบิร์ดเป็นตัวอย่าง) 2. มีจุดขายให้ผู้ฟังติดตามผลงานในข้อ 1 ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสาวก (อาจใช้คำว่า “แฟนกรี๊ด”) จุดขายมีได้หลายอย่างครับ เช่น เน้นรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าทรงผม หรือเน้นบ้าผสมกล้า แต่ที่ศิลปินส่วนใหญ่ไม่ค่อยเน้นก็คือ “มีความรู้เรื่องเรียบเรียงดนตรี เล่นดนตรี รวามถึงแต่งคำร้องด้วยตนเอง” ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดขายสมบูรณ์แบบ หากใครมีครบทุกอย่างแล้ว ตำแหน่ง “ศิลปินตลอดกาล” ก็ไม่หนีไปไกลครับ หลายคนพิสูจน์ว่ามีจริง ขณะที่หลายคนก็ยืนยัน่านี่ของจริงนะคร๊าบ ไม่ใช่ฟลุ๊ก
“ใบชา song ขอขอบคุณ-พี่จุ้ย ที่มาช่วยร้องคู่ในเพลงหลงมนต์ ด้วยเสียงอันเคลิบเคลิ้ม ฟังแล้วชวนให้ลุ่มหลงเป็นหนักหนา”
จะว่าไปคุณบรรณคือผู้ปลุกปั้นใบชาsong ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงที่มีผลงานต่อเนื่องในช่วหลายปีนี้ โดยมีคอนเซ็ปต์เฉพาะ ไม่ซ้ำใครก็ว่าได้ ถือเป็นความแปลกที่คนฟังไม่ปฎิเสธ และไม่มีใครรายไหนกล้าทำด้วย ในอับั้ม Sweetnuj ต้นฉบับเสียงหวาน ผลงานลำดับที่ 5 ของใบชาsong ชุดนี้ก็ทำแปลกแหวกแนว เชิญนักร้องหญิงรุ่นคุณป้ามาร้องนำ ผ่านงานดนตรีที่เน้นบรรเลงจริง และบันทึกเสีงอย่างพิถีพิถันในแบบ Retro ย้อนยุค โดยอิงความสมจริงของเสียงเครื่องดนตรีและคุณภาพการบันทึกเสียงตามมาตรฐานที่ ค่ายเพลงชั้นนำระดับออดิโอไฟล์ต่างประเทศทำกัน ซึ่งนักฟังเพลงแบบซีเรียส (มากกว่า Music Lover ปกติ) และนักเล่นเครื่องเสียงเกินระดับสามัญล้วนเข้าใจดี
คุณบรรณแปะคำจำกัดความบนปกซีดีว่า “บทเพลงรักร่วมสมัยที่พาคุณย้อนสู่อดีตไปกับความกลมกล่อมของคำร้องและท่วง ทำนอง สุทรียภาพจากเสียงดนตรีและน้ำเสียงหวานๆของสวีทนุช” ครับ ใช่แล้วครับ เมื่อฟังทั้ง 11 เพลง ประสาทส่วนได้ยินและกายสัมผัสกลับจูงจิตผมให้นั่งไทม์แมชชีนย้อนสู่วันวาน แม้ตัวผมจะไม่ค่อยอยากรื้อฟื้นอดีตและมีห้วงเวลาเป็นอดีตไม่มากนักก็ตาม โดยเฉพาะเสียงพี่จุ้ย (พี่จุ้ยอีกแล้วครับ) และเสียงคุณป้านุช
สิ่งหนึ่งที่คนฟังจะรู้สึกได้เมื่อนั่ง เสพงานดนตรีนานๆ โดยเฉพาะเมื่อฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยความชอบจนถึงขั้นหลงใหล สิ่งนั้นคือ “ความสุขและอารมณ์เชิงลึก” ที่ศิลปินสื่อสารผ่านคำร้องและทำนองออกมา เมื่อคน-ร้องคนเล่นเค้าสุข คนฟังก็ย่อมรับรู้ได้ตรงกันด้วย
“ทะเลที่สวย ฉันมองไม่นานก็เบื่อ แปลกใจเมื่อมองดวงตาของเธอได้เป็นวันๆ ด้วงจันทร์เปล่งแสง ให้คนได้ฝัน ไม่เท่าเธอนั้นที่ทำให้ใจฉันลอยล่องไป” จากท่อนอินโทรในเพลงหลงมนต์
หากจะบอกว่าเป็นเสียงที่ตั้งใจร้อง ตั้งใจเน้นอักขระ รวมถึงเค้นอารมณ์เท่าที่ผมเคยได้ยินพี่จุ้ยร้องเพลงและบันทึกเสียงมา ใครไม่เชื่อผมลองฟังแทร็ค 3 ในอัลบั้มนี้สิครับ รับรองขนลุก!! (คุณบรรณบอกว่า พี่จุ้ยเปลี่ยนโทนเสียงและการร้องไปจากเดิม เสียงแน่นและอิ่มเข้มน่าฟังมากขึ้น) แม้เมื่อเทียบกับเสียง “คุณป้านุช” หรือ “วรนุช กนกากร” เจ้าของอัลบั้มและเจ้าของเสียงหวานใสแบบเรโทรอะนาล็อกที่ร้องคู่กันแล้ว ทำให้พอระบุความอาวุโสของเส้นเสียงไม่ยากนักก็ตาม แต่พี่จุ้ยก็คุมโทนเสียงให้มีวรรณะใกล้เคียงกัน จนบางคนเมื่อฟังแค่แวบแรกแล้วนึกว่าเป็นเสียงคุณวินัย พันธุรักษ์
เพลงเด่นที่แนะนำให้ฟังรองจากไตเติ้ล แทร็ค “เพลงรักยุค Hi-Tech” ที่หลายคนคุ้นหูจนสนเท่ห์กับเนื้อเพลงและเสียงร้องจากคลื่นวิทยุ (ผมฟังครั้งแรกในรถจากคลื่น Fat Radio เริ่มปิ๊งเมื่อได้ยินครั้งที่ 2 จากคลื่นเดียวกัน ความดังขั้นติดอันดับชาร์ต Fat และชาร์ต Seed ด้วยนะ) และเป็นเพลงที่ผมคาดว่าจะดึงผู้ฟังให้สนใจงานชุดนี้ ต่อจากรักยุค Hi-Tech เพราะเป็นเพลงร้องสไตล์ดูโอชาย-หญิงในแง่มุมหยอดคำรักแก่กันเหมือนเพลงคู่ใน อดีตสมัยสุนทราภรณ์ หรือยุคโด่งดังของคุณสุเทพ-สวลี ทำให้คนฟังเพลงวัยอาวุโสและไม่อาวุโสมีโอกาสได้ชื่นชมรวมถึงนักฟังวัยอินดี้ ก็สามารถร่วมวงฟังเพลงนี้ เพื่อเสพบรรยากาศเก่าๆแบบชิลล์ชิลล์ได้ บรรณเล่นเหมาะคนฟังซะหมดทุกกลุ่มเลยนะ!!!
คาดว่าเพลงรักร่วมสมัยในความหมายของโป รดิวเซอร์บรรณซึ่งทำหน้าที่มิกซ์เสียง แต่งเนื้อร้องและทำนอง น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงรักในอดีต เพราะมีเนื้อร้องละมุนละไมผสมด้วยการเรียบเรียงภาคดนตรีแบบนุ่มเนิบโดยใช้ เครื่องดนตรีอะคูสติกทั้งหมด (No Electric) อย่างไวโอลิน เชลโล่ ดับเบิ้ลเบส คลาริเน็ต เปียโน กีต้าร์ และเพอร์คัชชั่น ฯลฯ บางเพลงเขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงเรื่องความรักของศิลปินเอง และบางเพลงก็เติมไอเดียจนเกิดมุมมองเรื่องความรักที่ฟังแล้วอดขำไม่ได้ อาทิ เพลงคำหยาบ เพลงแจกันดอกไม้ เพลงน้องคนนี้ (เพลงร้องแก้ของเพลงพี่คนนี้ในอัลบั้มคนบ้าบอล)
การใช้เครื่องดนตรีอะคูสติกกำเนิดเสียง โดยการสั่น ตี ดึง เคาะ ลาก ด้วยแรงมือจนได้เสียงหนักเบา นอกจากจะช่วยให้เกิดเกรนเสียงเป็นธรรมชาติแล้ว ยังทำให้ขอบมุมของเสียงนุ่มกลม ชวนฟังมากกว่าการเลือกใช้เครื่องดนตรีแซมปลิ้งผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เสียงไร้ตัวตนไร้ “จิตวิญญาณ” จากการดีด สี ตี เป่า ตามธรรมชาติ ขอบเสียงจะเปลี่ยนจากมนกลมเป็นคมแข็งและแหลมแยงหู
นอกจากเครื่องดนตรีแบ็คอัพจะให้ชีวิต ชีวาแล้ว เสียงร้องนำก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คุณป้านุชเป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านร้องเพลงมาตั้งแต่ร่วมงานกับศิลปินชั้นครู จากข้อมูลบนปกบอกว่า เธอเคยเป็นนักร้องของทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมในสมัยนั้น ก่อนหน้าเป็นพรีเซนเตอร์คนสวยให้กับบริษัท อิตัลไทย และมีโอกาสทำวงดนตรีโฟล์คซองกับเพื่อนในยุค 70 ด้วย (ปัจจุบันคุณป้านุชเป็นนักร้องเพลงไทยเดิม ประจำวงของธนาคารออมสิน)
จากบุ๊กเล็ต (ดีไซน์สไตล์ย้อนยุค นำภาพเก่ามาพิมพ์บนปกกระดาษ) ซึ่งนำภาพคุณป้านุชในสมัยก่อน ทั้งภาพขาวดำ ภาพสี ในวัยต่างกันมาตีพิมพ์ บ่งบอกให้รู้ว่าเธอเป็นคนสวย ยิ้มเก่ง มีความโอบอ้อมอารี ใจดีอยู่ในที เมื่อคะเนร่วมกับแก้วเสียงหวานใสมีเสน่ห์ชวนจำ ได้ยินเพียงไม่กี่ครั้ง ก็สำทับให้ผมเข้าใจดีว่า เหตุใดคุณบรรณถึงเลือกเธอ มาร้องนำในงานชุดนี้ และย้ำอีกว่าทำไมถึงต้องมีพี่จุ้ยเป็นดูโอ (แม้คุณบรรณจะร้องคู่ด้วยในเพลงแจกันดอกไม้ก็ตาม)
“เหมือนสายธารล่อง ไหลหลั่งลงมา ไม่ปรารถนาจะให้ย้อนคืน ดั่งเหมือนเกลียวคลื่นที่ขดกลมกลืน ฉันคงไม่ฝืนจะไปอีกทาง” ความหนึ่งในเพลง “ชีวิตฉันมีแต่เธอ” ที่ผมชอบคำร้องและจังหวะดนตรี รวมถึงน้ำเสียงคุณป้านุช ไล่เลี่ยกับเพลงอ้างฟ้าอ้างฝน ซึ่งมีคำร้องตัดพ้อคนรักแบบเชือดเฉือนใจ และท่วงทำนองฉ่ำเย็น โดดเด่นด้วยเสียงเปียโน อุดมฮาร์มอนิกและไวโอลินตอนอินโทร (เสียงไวโอลินได้ยินเสียงเหนียวๆของคันชักและฮาร์มอนิกแทรกตัวผ่านช่องเสียง หรือ F-Hole ชัดเจน)
ในเพลงชีวิตฉันมีแต่เธอ คุณจะได้ยินเสียงคลาริเน็ตแผ่กังวานเต็มเวทีเสียงเหมือนคุณโก้ เศกพล มายืนเป่าตรงหน้าในห้องฟัง ตั้งแต่อินโทร เรื่อยมาจนตลอดเพลง ปกติแล้วอัลโต้แซ็กโซโฟนคืออาวุธประจำตัวคุณโก้ แต่ในงานชุดนี้ (รวมชุดอื่นของคุณบรรณที่คุณโก้มาร่วมแจมด้วย) คุณโก้ใช้คลาริเน็ตจู่โจมคนฟังแทน (รู้สึกว่าจะเป่าได้ฟิลลิ่งทางหวานต่างจากแซ็กโซโฟนที่เป็นทางดุ ผมชอบแบบหวานๆกว่านะ) เสียงหวานแบบระรื่น ทอดตัวต่อเนื่องจากจุดเล็กๆ ก่อนขยายสเกลสู่จุดใหญ่เป็น 3 มิติ ได้ทั้งพลังเสียงและคลื่นแฝงของแอมเบี้ยนต์ โดยไม่ซ้อนทับชิ้นดนตรีอื่นๆ ผมสังเกตว่าไม่เฉพาะเพลงนี้ที่มีชิ้นดนตรีชัดเจนเหมือนภาพถ่ายเกรนคอนทราสต์ และเงากลมกลืนกัน (ไม่ Over หรือ Under) ในเพลงอื่นก็มีลักษณะคล้ายกันด้วย โดยโทนสีของภาพจะสดสมจริงสักนิด ถือเป็นจุดเด่นของภาคดนตรีในอัลบั้มนี้ที่สัมผัสได้ง่ายที่สุด แม้เป็นคนฟังเพลงที่ไม่มีความรู้เรื่องดนตรีหรือไม่มีชุดเครื่องเสียงเพรเฟอร์เรนซ์ก็สามารถเข้าถึงได้
******************
******************
บรรทัดห้าเส้นยุคไฮเทค “บรรณ สุวรรณโณชิน”
Positioning Magazine / มีนาคม 2552 /โดย ศศิขวัญ ศรีกระจ่าง
“วงการเพลงพอมีที่เหลือให้นักร้องใหม่วัย 66 รึเปล่า” คำโปรยในกระทู้พันทิพที่ “บรรณ สุวรรณโณชิน” เป็นผู้โพสต์กลายเป็นที่มาแห่งความโด่งดังแบบ ”ชั่วข้ามคลิก” ของคุณแม่ยาย “วรนุช กนกกากร” หรือ “สวีทนุช” ผู้สร้างความคอนทราสต์ในการร้องเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง “รักยุคไฮเทค” และ “คำหยาบ”
…เขยบรรณ โปรดิวเซอร์อารมณ์ขันและหนึ่งใน “ชนกลุ่ม Niche” ของวงการเพลง วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่า “ก็ดวงคุณแม่จะเกิดไงคร้าบ”
“บรรณ” เป็นลูกคนที่สอง (ในสี่) ของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งทำร้านจำหน่ายใบชามาตั้งแต่สมัยอากง เขาจึงเห็นความยากลำบากของธุรกิจที่อยู่บนผลกำไรเพียงน้อยนิด
บรรณเล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพมาตั้งแต่ศึกษาอยู่พณิชยการสีลม เขาต้องแอบพ่อ โดยมีแม่คอยดูต้นทาง เมื่อเรียนจบจึงเข้าสู่วงการมนุษย์เงินเดือนในฐานะลูกจ้างร้านจิวเวลรี่ที่ สยามสแควร์ถึง 13 ปี แต่ก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เขาได้ซื้อเทปจากดีเจสยามและร้านอื่นๆ กลับบ้านร่วมวันละ 10 ม้วน
ระหว่างนั้น บรรณยังคงเล่นดนตรีกลางคืนที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เขาได้ลองและเรียนรู้แนวดนตรีที่หลากหลาย ทั้ง Reggae, Blues และ Jazz เริ่มได้ยิน Standard Jazz แนว “RagTime” (การเล่นเปียโนช่วงเก็บกวาดร้านในยุค 40-50) จนเกิดความประทับใจและนำมาเป็นแนวดนตรีของเขาในอัลบั้มทุกชุดในเวลาต่อมา
ปี 2539 บรรณเริ่มแต่งเพลงและนำเสนอเดโมไปตามค่ายต่างๆ กระทั่งได้ออกอัลบั้มแรกในสังกัด BMG โดยไฮไลต์อยู่ที่เนื้อร้องซึ่งนำเอา 57 ชื่อเพลงของอัสนี-วสันต์ มาเรียงต่อกัน
เมื่อ BMG ปิดตัวลงด้วยรสแซบของ “ต้มยำกุ้ง” บรรณจึงลงทุนทำค่ายเพลงของตัวเองในชื่อ “จานบินมิวสิค" ทว่าออกมา "สวัสดีชาวโลก" ได้ไม่ถึงปีก็มีอันต้องปิดตัวลง เพราะเขาเองก็หมดตัว
บรรณคืนชีพอีกครั้งในปี 2547 โดยสร้างค่ายเพลงในชื่อ "ใบชา Song” เพื่อสำนึกรักใน “บุญคุณใบชา” ของพ่อ แนวดนตรีเน้น Jazz, RagTime, BossaNova ทว่าใส่เนื้อหาของเพลงที่ว่าด้วยชีวิตและการวิพากษ์สังคมด้วยอารมณ์ขัน เช่น อย่ากดดันศาล (พระภูมิ) เส้นสายเส้นเอ็น คนอุ้มบาตร โดยขณะที่เขาทำอัลบั้มแรกของค่าย ทาง RS มาได้ยินเพลงเข้า จึงติดต่อให้บรรณมาเป็นศิลปินในสังกัด
ผลงานต่อมาของบรรณ ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์และศิลปิน แม้ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้แต่กลับได้รับรางวัลและคำชมจากสื่อมวลชน ในฐานที่สร้างไอเดียใหม่ให้กับวงการเพลงไทยมากมาย อาทิ เพลงสำนวนสวนสัตว์ที่นำเอา 39 สุภาษิตไทยที่มีชื่อสัตว์มาผูกต่อกัน เพลงคนบ้าบอลที่ประกอบไปด้วยชื่อทีมบอลยุโรป 49 ทีม หรืออัลบั้มซึ่งเป็นงานเพลงแบบ "พูด" ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในวงการ
บรรณถนัดการเล่นเปียโน และเครื่องดนตรีอีกหลายชิ้น ทั้งที่เขาไม่เคยเรียนดนตรีหรืออ่านตำรามาก่อน ...”เค้าเรียกว่าเป็นสัญญาเก่า” สวีทนุช...นักร้องสาวสูงวัยในสังกัดส่งเสียงมา
“วรนุช” หรือ ”ชื่อในวงการ…สวีทนุช” เมื่อเรียนจบคหกรรม ความที่อยากเป็นผู้ประกาศ เธอจึงไปสมัครงานสถานีโทรทัศน์ กระทั่งได้เป็นนักร้องในรายการ “เพลินเพลงกับนฤพนธ์” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อมีเวลาว่างเธอชอบไปอบรมตามคอร์สต่างๆ โดยไม่นับว่าอายุคืออุปสรรค เธอเรียนกีตาร์เมื่ออายุ 34 เรียน และเป็นไกด์นาน 8 ปีนับจากวันที่อายุ 44 อีกทั้งเป็นอาจารย์โยคะในเวลาต่อมา ปัจจุบัน เธอกำลังสนุกกับเรียนการร้องเพลงไทยเดิม เธอว่าเพราะไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ และเป็นคนชอบเรียนรู้ อนาคต สาวนุชยังอยากเรียนคอมพิวเตอร์ (หากผ่านมติเห็นชอบจากลูกๆ) เผื่อจะได้เล่น hi5 ถนัดๆ
[Hook]*เจ๊งจนชินมันอินในหัวใจ ก่อนจะพบความสำเร็จในอัลบั้ม “สวีทนุช” ไม่มีงานเพลงของบรรณชุดไหนทำยอดขายได้เกินหนึ่งพันแผ่น “เจ๊งทุกชุด ใช้คำนี้เลย” เขาจึงนิยามความสำเร็จจากอัลบั้มสวีทนุชว่าเป็นแบบ ”เกาะขาผู้อาวุโส”
สวีทนุช : แหม...เค้าเรียกว่าดวงส่งกันต่างหาก
บรรณชักนำคุณแม่ยายเข้าสู่วงการเนื่องจากเพื่อนกำลังต้องการนักร้องมี อายุไปเป็นแขกรับเชิญ ทว่าด้วยก๊าซเฉื่อยในกระแสเลือดของเพื่อนศิลปินทำให้บรรณตัดสินใจที่จะทำ อัลบั้มให้คุณแม่ยายเสียเอง “พี่รู้สึกว่าเพลงลูกกรุงแท้ๆ หายไปจากเมืองไทยราว 20-30 ปีแล้ว เลยอยากทำเพลงแนวนี้ดูบ้าง”
บรรณ : ถามก่อนว่าแม่เอามั้ย แม่ก็คิดอยู่แป๊บนึงก่อนตกลง…คือคิดนานเดี๋ยวอดไง
9 เพลงในอัลบั้ม “ต้นตำรับเสียงหวาน” บรรณใช้เวลาแต่งเนื้อร้องทั้งหมดเพียงหนึ่งอาทิตย์ แต่ในห้องอัด ความที่ต่าง Generation ทำให้เกิดความเห็นที่ต่างกันบ้าง เช่น เพลงไทยเดิมที่สวีทนุชถนัดจะไม่มีห้องเพลง แต่เพลงสากลทั่วไปจะมีห้องเพลง บรรณจึงต้องกำหนดโควตาในการ “เอื้อน” ของคุณแม่ไม่ให้ยาวเกิน
บรรณ : แต่บางอย่างเราก็ยอมได้ เช่น เดิมในเพลงพี่แต่ง ”อย่าเพิ่งใจร้อน” แต่คุณแม่บอกว่าน่าจะเป็น “อย่าด่วนใจร้อน” เราก็เห็นว่าโบราณดี เอาๆ คุณแม่เหมือนเราทำให้ได้นั่ง Time machine กลับไปในช่วงเวลานั้น
“รักยุคไฮเทค” และ “คำหยาบ” เป็นสองเพลงดังในอัลบั้มแรกที่แสนโดนใจวัยรุ่น ในขณะที่แทร็กอื่นๆ ยังคงเอกลักษณ์ในแบบสุนทราภรณ์ หลายคำที่เป็นภาษาเฉพาะ สวีทนุชจึงต้องทำความเข้าใจ เช่น Winamp หรือการใช้คำห้วนๆ อย่าง... เธอไม่รักฉันไม่รู้... “แม่ก็ถามว่าคนสมัยนี้เค้าพูดกันอย่างงี้เหรอ”
งานเพลงของใบชา Song ไม่มีการใช้งบโปรโมต โดยปกติเขาอาศัยส่งไปตามนักวิจารณ์ และคลื่นวิทยุซึ่งที่ผ่านมาเหมือนกับความพยายามป้อนข้าวให้คนที่ไม่ยอม “อ้าปาก”
บรรณเอาอัลบั้มสวีทนุชไปแปะไว้ในเว็บ “กระปุก” เมื่อชาวเน็ตตามลิงค์มาจากพันทิพ ชั่วข้ามคืน เพลง “รักยุคไฮเทค” จึงกลายเป็นเพลงฮอตในหน้าโปรไฟล์ของ hi5 และ Blog จำนวนมาก...กลายเป็น Talk of the town จนคลื่นวัยรุ่นอย่าง Seed และ FAT ต้องเปิดจนยิ่งดังเข้าไปอีก กระทั่งต้องทำ MV เพราะสื่อทีวีขอมามาก ในวันวางแผง ผู้จัดจำหน่ายเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะวางในกลุ่มเพลงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ดี “พอวางไป 500 แผ่น เกลี้ยงแผงเลย”
ความสำเร็จที่ไม่คาดคิดจาก 500 จึงกลายเป็น 10000 ก๊อบปี้ในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งนับว่ามากสำหรับตลาดที่มีการแข่งขันกัน (ก๊อบปี้) สูง บรรณและภรรยาลงมือแพ็กซีดีเองเพื่อความประหยัด แม้หน้าปกอัลบั้มก็วาดกันเอง
“สนุกนึก”…อัลบั้มล่าสุดของสวีทนุชที่บรรณเลือกเพลงเด็ดของแกรมมี่มา เรียบเรียงใหม่ในอารมณ์ลูกกรุง เช่น อกหัก (Bodyslam), คนมันรัก (ไอซ์-ศรัณยู), พลิกล็อก (คริสติน่า) ฯลฯ "...สนามหลวงมาจ้างเรา ด้วยกระแสที่แรงจากชุดแรกของคุณแม่ เราเองก็เคยอยากทำเพลง Cover แต่พวกเพลงดังๆ ค่าลิขสิทธิ์แพง” สวีทนุชจึงเป็นศิลปินที่มีอัลบั้มวางแผงถึง 2 ครั้งในรอบปี (มีนาคมและธันวาคม) แถมขึ้นชาร์ตอันดับ 1 อยู่หลายสัปดาห์
[Bridge] “ใบชาซอง” แห่ง ”สองเรา” … “ค่ายเพลงนี้จึงต้องมี ”วิภาวี กนกกากร” ภรรยาซึ่งนอกจากเป็นช่างเทคนิคในห้องอัดแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้แก่ใบชาซองด้วย เธอนี่เองที่เป็นผู้แทรกหนังสือธรรมะ”เขียนมือ” ลงไปในอัลบั้มของสวีทนุช ”เมย์ฟังเพลงเยอะแล้วก็หลากหลายแนวมาก” เธอสนับสนุนให้บรรณผลิตอัลบั้มต่อไปแม้ช่วงก่อนหน้าจะขาดทุนตลอด
[Epilogue] รายได้ที่ไม่คาดฝันจากอัลบั้มสวีทนุช ทำให้บรรณมีโอกาสทำหนังสือ “แปรงเพลงให้เป็นเพลงแปลง” งานเขียนของเขากระฉูดด้วยอัจฉริยภาพในการใช้ภาษา มุกที่คนสงสัยว่า “คิดนานมั้ย” ...คล้ายๆ จะเป็นบรรณานุกรม + How to + ความรู้ + อัตชีวประวัติแบบ Case Study ทว่า เข้าไปมีจั๊กจี๋คนในหลายๆ วงการ ตั้งแต่ การเมือง ศาสนา การศึกษา ดารา ฯลฯ
บรรณจะยังคงคอนเซ็ปต์ในการสร้างสรรค์งานเพลงใหม่ๆ สู่วงการ โดยอัลบั้มต่อไปเขาว่ากำลังเตรียมเพลงแนวลูกทุ่งแบบโบราณอยู่
** …เพราะชารสดีมิได้ชิมที่น้ำแรก หากแต่ยิ่งชงจึ่งยิ่งได้ชารสดี... [ ซ้ำ *,** ]
ที่มา : บรรทัดห้าเส้นยุคไฮเทค "บรรณ สุวรรณโณชิน" Positioning Mag.
**************
สวีทนุช : เมื่ออดีตส่งกลิ่นหอม
27 May, 2008 - 10:58 -- musicnotation
แม้ว่าช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงตกต่ำของวงการดนตรีไทย ด้วยยอดขายของซีดีที่นับวันจะต่ำเตี้ยติดดินลงทุกที แต่ถ้าเรามองกันถึงเนื้องาน ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้มีงานที่น่าสนใจออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของภูมิจิตที่ผมพูดไปถึงเมื่อคราวที่แล้ว, โปรเจ็กต์โฟล์คของคุณมาโนช พุฒตาลที่เริ่มต้นด้วยซิงเกิ้ล “อยู่อยุธยา” (ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงงานที่ผมสนใจด้วยความลำเอียงล้วนๆ อย่างอัลบั้มใหม่ของโฟร์ – มด... แหม ก็น้องมดเขาน่ารักนี่ อิอิ...)
รวมถึงงานชิ้นนี้ที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วย
ผมกำลังจะพูดถึงอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ของ “สวีทนุช” ครับ
“สวีทนุช” คือนามแฝงของคุณวรนุช กนกากร อดีตนักร้องของช่อง 4 บางขุนพรหม, พรีเซ็นเตอร์สินค้าของอิตัลไทย, อดีตนักร้องโฟล์คซอง และในปัจจุบันเธอก็ยังคงทำหน้าที่เป็นนักร้องในวงดนตรีไทยของธนาคารออมสิน แต่ในครั้งนี้คือการออกอัลบั้มครั้งแรกของเธอ (ซึ่งทำให้บางคนแซวเล่นๆ ว่า เธอคือศิลปินหน้าใหม่ที่มีอายุมากที่สุดในวงการเพลงไทยในขณะนี้) ในขณะที่โปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้คือคุณบรรณ สุวรรณโณชิน ศิลปินมากฝีมือที่มาพร้อมกับนักดนตรีฝีมือดีอย่างเช่นคุณโก้ – เศกพล อุ่นสำราญ ที่คราวนี้ไม่ได้มาเป็น Mr. Sax Man แต่หันมาจับคลาริเนตแทน, คุณสุวรรณ มโนษร – มือไวโอลินฝีมือดีระดับต้นๆ ของประเทศ และนักดนตรีฝีมือดีอีกมากมาย
อัลบั้มนี้เปิดด้วยเพลง “รักยุค Hi-Tech” ที่เรียกความสนใจได้ในแว่บแรกที่ได้ยิน ด้วยลีลาดนตรีที่พาให้เรานึกถึงยุคที่เวทีลีลาศสวนอัมพรและอาคารลุมพินีสถานยังเป็นสถานที่สุด Hip สำหรับนักเต้นเท้าไฟ แต่ในส่วนของเนื้อร้อง กลับเป็นแบบนี้
บนโลก Hi-Tech ทุกอย่างเล็กลง
แต่รักฉันคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม
อยากมี Hard Disk ลง Program เสริม เพิ่ม RAM
พร้อมแจ่มด้วยภาพของเธอที่ Desktop
หรือ
ส่ง SMS พิมพ์คำข้อความ
แนบคำนิยามที่สุดซึ้ง
เปิด Winamp ไว้ด้วยเพลงคิดถึง
อยากให้เธอซึ้ง กับความคิดถึง... ที่ฉันให้เธอ
ซึ่งเนื้อเพลงแบบนี้ดูจะเป็นของถนัดของคุณบรรณ ซึ่งเป็นคนลงมือแต่งเนื้อ – ทำนองเพลงนี้ (และทุกเพลงในอัลบั้ม) เพราะคุณบรรณถนัดในการเอาของที่ไม่น่าจะเป็นเนื้อเพลงมาทำให้เป็นเพลงได้ (ไม่ว่าจะเป็นชื่อนักฟุตบอลบราซิล, ชื่อสัตว์ เรื่อยไปจนถึงฉายาของทีมฟุตบอล รวมถึงถ้ามองย้อนไปในสมัยที่เขายังทำงานในชื่อ “มินต์กับแจ็ค” ในยุคอัลเทอร์ฯ รุ่งเรือง เขาก็เคยเอาชื่อเพลงของอัสนี –วสันต์ 50 กว่าเพลงมาต่อเป็นเพลงมาแล้ว) ซึ่งในคราวนี้ก็เอาบรรดาศัพท์เทคโนโลยีทั้งปวงมาใส่ในเพลงลูกกรุงซะงั้น ซึ่งก็ทำได้สะดุดหู และเรียกแขกได้อยู่หมัด (ล่าสุดที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่ตอนนี้ เพลงนี้ก็ขึ้นอันดับ 1 ของคลื่น Seed 97.5 และกำลังไต่อันดับสูงในชาร์ตของ Fat Radio อยู่ด้วย)
แต่ก็ใช่ว่าอัลบั้มนี้จะมีไม่เด็ดเพียงแค่เพลงเปิดหัวเท่านั้น เพราะเพลงอื่นๆ ก็มีความเด่นตรงที่นำเสน่ห์แบบเพลงลูกกรุงรุ่นเก่ามานำเสนอได้อย่างน่ารักน่าหยิก ไม่ว่าจะเป็นลูกหยอกน่ารักๆ ใน “คำหยาบ” หรือจะเป็นเพลงหวานระดับ 2,000 กิโลแคลอรี่อย่าง “หลงมนต์” ที่ได้พี่จุ้ย – ศุ บุญเลี้ยงมาให้เสียงนุ่มๆ ประกบ เรื่อยไปจนถึงเพลงอย่าง “แจกันดอกไม้” ที่ฟังแล้วอดคิดถึงบรรยากาศแบบเพลง “จุดไต้ตำตอ” ของสุนทราภรณ์ ไม่ได้ (เพลงนี้คุณบรรณลงมือร้องคู่ด้วยตัวเอง)
นี่เป็นอัลบั้มที่จะฟังเอาเพราะ ก็ได้แน่ๆ จะฟังลวดลายทางดนตรีก็ยังได้ สำหรับนักเลงเครื่องเสียง อัลบั้มนี้ก็บันทึกเสียงได้สะอาดและได้อารมณ์สดฉ่ำดีนัก และสำหรับนักเลงการเมือง ทั้งฝ่ายทักกี้นิยม, ลิ้มนิยม เรื่อยไปจนถึงไม่นิยมมันทั้งคู่... อัลบั้มนี้เหมาะสำหรับฟังดับอาการท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว และอาการเสพติดการเมืองขึ้นสมองได้ดีนักแล
ของเขาดีจริงๆ ครับ
**************
10 คำถาม กับ บรรณ สุวรรณโณชิน /โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง สวีทนุช / คอลัมน์ Entertainment Talk จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ
บรรณ เคยได้ชื่อว่าเป็นศิลปินขบถจากค่ายอาร์เอส ผู้ก้าวออกมาทำงานในแนวทางของศิลปินอินดี้ เพื่อสะท้อนความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
บรรณ ไม่ใช่ศิลปินหน้าใหม่ ชั้นเชิงทางดนตรีของเขาได้รับการชื่นชมยินดีจากดีเจรุ่นใหญ่อย่าง วิโรจน์ ควันธรรม คุณภาพงานบันทึกเสียงของเขา สะดุดตานักวิจารณ์เครื่องเสียงอย่าง ธานี โหมดสง่า
ผลงานชุด สำนวนสวนสัตว์ ยังได้เข้าชิงรางวัล คมชัดลึก อวอร์ด มาแล้วด้วยซ้ำ
แต่ที่ผ่านมา บรรณ ล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง ตั้งแต่วิธีการทำงานดนตรีที่แหวกแนวกว่าคนอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงการต่อสู้กับระบบอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเราในวันนี้ ซึ่งยังไม่มีเงื่อนไขที่ดีเพียงพอ สำหรับการเปิดโอกาสให้คนดนตรีตัวเล็กๆ ได้มีพื้นที่เติบโตอย่างเหมาะสม
บรรณ มาอยู่ในความสนใจของวงการเพลงอีกครั้ง ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอัลบั้ม Sweet Nuj ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพลง รักยุคไฮ-เทค ติดอันดับหนึ่งของคลื่นเพลงหลายแห่ง
และอีกไม่นาน บรรณจะพาแฟนเพลงไปสัมผัสตัวตนจริงๆ ของ วรนุช กนกากร นักร้องอาวุโสเสียงดีที่นำแนวทางการร้องแบบดั้งเดิมของไทย ให้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ ใน จุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 28
1. ในฐานะโปรดิวเซอร์ คุณคิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้อัลบั้ม Sweet Nuj ประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจจากแฟนเพลงหลากวัย
...ผมว่ามันเป็นเพราะ อัลบั้มนี้มีจุดเชื่อมโยงระหว่างเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ด้วยเนื้อหาของ เพลงรักยุคไฮเทค มันเป็นเรื่องจริงของวัยรุ่นสมัยนี้ ส่วนดนตรีและท่วงทำนองทั้งหมดในอัลบั้มเป็นสไตล์ย้อนยุค เหมาะกับคนวัยทำงานไปจนถึงผู้ใหญ่ และเรื่องการบันทึกเสียงที่เราได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนชุดนี้ยังถูกใจกลุ่มนักเล่นเครื่องเสียงด้วย แต่ที่น่าปลื้มใจคือหลายๆ คนบอกว่าอัลบัมนี้ฟังกันได้ทั้งครอบครัวเลย
2. ก่อนที่อัลบั้มนี้จะออก สู่ประชาชน คุณมีความมั่นใจมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเองก็ผ่านการผลิตผลงานออกมาหลายชุด และมีเสียงตอบรับที่แตกต่างกันไป
...ไม่ได้ตั้งความหวังไว้เท่าไร เพราะตอนแรกกะว่าทำเพลงให้ผู้ใหญ่ฟัง แต่วัยรุ่นมาชอบด้วยนี่ก็ดีนะ พอเสร็จออกมาพอใจในคุณภาพตามที่เราต้องการแล้ว โดยเฉพาะชุดนี้เป็นเพลงในสไตล์ลูกกรุงที่พ่อผมฟัง ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้เพลงลูกกรุงหายไปเลย และอาจจะเป็นเพราะว่าทำนองและเนื้อหาที่ฟังง่าย เลยเข้าถึงกลุ่มคนง่ายกว่างานของบรรณซึ่งเป็นแนวหลากหลาย
3. อยากทราบเบื้องหลังอันเป็นที่มาของอัลบั้มชุดนี้ ใช้เวลาคิดนานแค่ไหน อะไรทำให้ 'คลิก'
...ผมคิดอยากจะทำอัลบั้มเพลงลูกกรุงสักชุด นึง จึงได้นึกถึงเพลงรักยุคไฮเทคที่แต่งไว้แล้ว เพื่อที่จะให้สวีทนุชร้องในอัลบั้ม รวมนักร้องผู้หญิงสิบคน แต่โปรเจคนั้นยังไม่ได้ทำ จึงได้ไปชวนสวีทนุชเพื่อทำอัลบั้มเดี่ยวชุดนี้ เพราะได้ยินเสียงสวีทนุชร้องมาเป็นสิบปีแล้ว เหตุการณ์เกิดเร็วมาก เมื่อได้รับคำตอบตกลง ผมจึงเริ่มแต่งเพลงเพิ่มโดยใช้เวลาประมาณสิบวันจนครบอัลบั้ม เป็นเรื่องแปลกมากที่มันพรั่งพรูออกมาเหมือนกับว่าเพลงเหล่านี้มันมีอยู่ แล้วในอนาคต
4. คุณคิดว่ากระแสการตอบรับ ผลงานชุดนี้ เป็นไปโดยผิวเผิน เหมือนคลื่นกระทบฝั่งแล้วหายไป หรือจะมีการสืบสานการทำงานในลักษณะนี้ต่อไปได้ในอนาคต
...เรื่องนี้พูดยาก น่าจะเป็นกระแสที่ทำให้คนหันมาฟังและทำเพลงย้อนยุคกันมากขึ้น ถ้าอัลบั้มนี้มีส่วนในการปลุกลูกกรุงให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ผมก็จะดีใจมาก
5. อยากทราบความรู้สึกแรกที่คุณได้ยินเสียงร้องของคุณแม่นุช คุณคิดจะทำผลงานร่วมกับเธอทันทีหรือไม่ อย่างไร
...ผมได้ยินเสียงเธอมาจนชิน เป็นสิบปีแล้ว รู้ว่าเธอร้องเพลงเพราะ ไปร้องที่ไหน คนก็ชมกันว่าเสียงหวานมาก จนวันนึงมีพี่กิ๊ก (เจ้าของอัลบั้ม inspiration) มาถามหานักร้องรุ่นเก่าไปร้องเพลงให้เขาเพลงนึง ผมแนะนำแม่นุชทันที แต่พี่เขาหายไปนาน ผมจึงมาฉุกคิดว่า เออ ทำไมไม่ทำเพลงให้แม่นุชร้องทั้งอัลบั้มซะเลยในแนวที่ผมชอบอยู่แล้วด้วย
6. ความคิดในการเขียนเพลง รักยุคไฮเทค เกิดขึ้นเมื่อใด
...อาจจะเป็นเพราะผมชอบแต่งเพลงรวมชื่อ อะไรต่ออะไรอยู่แล้ว พอเริ่มจะแต่งเพลงให้สวีทนุช (ในอัลบั้มรวมนักร้องหญิง) ผมฮัมทำนองไปพร้อมเปียโนเป็นทำนองโบราณ แล้วก็ได้เนื้อท่อนแรกลอยมาตามลมทันทีเลยว่า “บนโลกไฮเทค ทุกอย่างเล็กลง แต่รักฉันคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม” หลังจากนั้นก็มารวบรวมคำศัพท์เกี่ยวกับโลกไฮเทคทั้งหลายที่จะใช้ในเพลงนี้
7. นอกจาก รักยุคไฮเทค ที่คนส่วนใหญ่รู้จักดี อยากให้กล่าวถึงแง่มุมของเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มที่คุณชื่นชอบเป็นส่วนตัว
...ตอนแต่งเพลงในชุดนี้ มันอินหลายๆ เพลงเลย อย่าง คำหยาบ มาจากชื่อเพลงก่อน เกือบจะเป็นเพลงของบรรณไปแล้ว หลงมนต์ นี่แต่งยากแก้อยู่หลายครั้ง รักคือคำตอบ มาจากจังหวะแทงโก้ก่อน และอินโทรเปียโนยาวๆ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของความรัก ตอนแรกกะจะเอาไว้ท้ายๆ อัลบั้ม เพราะกลัวคนจะเบื่อฟังอินโทรยาวๆ อ้างฟ้าอ้างฝน, ชีวิตฉันมีแต่เธอ เศร้ามากๆ แจกันดอกไม้ อยากให้ได้อารมณ์เหมือนเพลงหนีไม่พ้น (สุนทราภรณ์) ที่มีร้องโอ๊ยตอนจบ น้องคนนี้ แต่งให้มาแก้กับ พี่คนนี้ ในชุด คนบ้าบอล ที่ภูมิใจมากๆ คือเพลงสุดท้ายที่แต่งเพิ่มคือ มีใครไม่แก่บ้าง เอาไว้กันคนต่อว่านักร้อง พอแต่งเสร็จภูมิใจมากฟังดูมันเป็นสัจธรรมและลงตัวดี
8. คุณมองวงการเพลงยุคปัจจุบันอย่างไร โดยส่วนตัวคุณค้นพบทางออกหรือแสงสว่างที่ปลายทางในการทำงานดนตรีต่อไปอย่างมีหวังหรือยัง
...ตอบได้เลยว่า ยัง เพราะองค์ประกอบในงานดนตรีที่จะประสบความสำเร็จ มันมีอุปสรรคอยู่มากมาย ปัญหาเดิมๆ ค่ายเล็กๆ ไม่มีช่องทางโปรโมท, ร้านซีดีปิดตัวลงจนที่วางขายน้อยลง, mp3, ดาวน์โหลดเถื่อน ฯลฯ คงได้แต่ทำงานเพลงให้ดีที่สุดก่อนที่จะคลอดออกมา แล้วที่เหลือคงต้องปล่อยให้มันเลี้ยงตัวเอง ถ้ามันน่าเกลียดคงเอาขี้เถ้ายัดปากตายไปก่อนใครจะเห็นแล้ว
9. จะมีอัลบั้มใหม่ที่ทำร่วมกับ สวีทนุช อีกหรือไม่ แนวทางดนตรีจะเป็นเช่นใด
...อยากมี แต่ต้องใช้เวลา และมีโปรเจคอื่นที่ต้องทำ แถมยังไม่อยากรีบๆ ร้อนๆ เพื่อเกาะกระแส อยากให้ฟังอัลบั้มนี้กันนานๆ ก่อน ถ้าจะมีชุดใหม่คงจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปบ้าง
10. ในงานจุดประกาย คอนเสิร์ต ซีรีส์ # 28 การแสดงของ สวีทนุช จะเป็นอย่างไร
...ดีใจที่จะเป็นคอนเสริตเต็มรูปแบบของสวี ทนุชจริงๆ นักดนตรีมากันครบทีม ทั้งเปียโน, ไวโอลิน, กีตาร์, กลองและเพอร์คัสชั่น, ฟลู้ต, ดับเบิลเบส, คลาริเนท, แซ็กโซโฟน และสวีทนุชยังได้เตรียมเพลงอื่นๆ นอกเหนือจากเพลงในอัลบั้ม ทั้งไทยเดิมและลูกกรุง คงจะเป็นงานที่คุณพ่อคุณแม่และลูกมาฟังเพลงร่วมกันอย่างมีความสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++