คอลัมน์ ซีดีรายงาน /พูดพร่ำทำเพลง /โดย ชุมพล มุสิกานนท์ /นิตยสารสเตอริโอ
“เพลงอะไรเนี่ยพ่อ?....” ลูกสาวผมตั้งคำถามหลังจากที่เธอได้ยินเพลงนี้ในรถยนต์ “แล้วมันดีไหมล่ะลูก?” ผมถามกลับ คราวนี้น้องพาสต้าบอกว่า “มันแปลกน่ะพ่อ....แล้วมีเสียงของคนพากย์ทีวีแชมเปี้ยนได้ไงเนี่ย...แถมมี อาจารย์แม่...คาราบาว...แล้วก็อัสนีด้วย...” ผมก็รู้สึกแบบเดียวกันนี้เปี๊ยบ หลังจากที่ฟังพูดพร่ำทำเพลงจบ เพลงไทยในช่วง 10 ปีหลังนี่หาอัลบั้มที่โดนใจแบบไม่ต้องคิดมากได้น้อยเต็มที บอกได้เลยว่าอัลบั้มชุดนี้ทำให้ความหวังอันแสนจะริบหรี่ของผมติดสว่างขึ้นมา ได้อีกครั้ง
“พูดพร่ำทำเพลง” เป็นการ Produce โดยบรรณ สุวรรณโณชิน เจ้าของผลงานชุด “บราซิล” “สำนวนสวนสัตว์” และ “Sorsax” ผมไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เคยแต่ฟังผลงานของเขา ผมพบว่า “บรรณ” มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการทำเพลงและคุณภาพการบันทึกเสียง งานในชุดสำนวนสวนสัตว์เกือบๆจะสมบูรณ์ มันยังขาดความ Peak ของอารมณ์อยู่นิดเดียว มาถึงอัลบั้มพูดพร่ำทำเพลงนี้ “บรรณ” เขยิบขึ้นไปนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ ควบด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผสมเสียง บันทึกเสียงที่ Tea Time Studio ผู้บันทึกเสียงคือบรรณอีกนั่นแหละ คนทำมาสเตอร์คือ ชัชวาล ปิยะวงศ์ประภาส at Swan Lake Studio
ทั้ง 9 เพลงเป็นการลงเสียงพูดประกอบดนตรี 9 เสียงพากย์ 9 รสชาติดนตรี และ 9 นักดนตรีรับเชิญ เฮ้ย...แค่คิดว่าจะทำงานแบบนี้ออกมาก็เหนื่อยแทนแล้วครับ ขอยกนิ้วให้เลยว่าโปรดิวเซอร์มีความมุ่งมั่นและพลังที่สมบูรณ์มากๆ เนื้อหาสาระของเพลงแสดงความเป็นตัวตนของ “บรรณ” ออกมาได้อย่างชัดเจนและเต็มที่ ไม่กล้าๆ กลัวๆ เหมือนที่ผ่านมา แบบนี้นักวิจารณ์น่าจะชอบ เพราะชัดเจนเป็นรูปธรรม แนวการเขียนเนื้อเพลงของเขาจะฟังให้ขำก็ได้ ฟังให้คิดก็ดี บางเพลงสะท้อนมุมมองสังคมออกมาได้อย่างแยบยล เช่นเพลง “ผู้เอ๋ยผู้ใหญ่” ที่เอาเสียงเด็กเล็กๆมาร้อง เพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน แต่เปลี่ยนเนื้อเป็นการแนะให้ผู้ใหญ่นั้นทำตัวให้ดีเสียก่อน จึงค่อยคิดไปสอนเด็กเพลง “สาธุ...ประดิษฐ์” ก็ได้ทั้งขำและแง่คิด ฟังทีแรกนึกว่าพี่แอ๊ดมาช่วยร้องจริงๆเสียอีก อยากให้ทำมิวสิควีดีโอออกมาจัง คงสนุกเป็นการใหญ่
นักดนตรีรับเชิญช่วย Solo ประกอบด้วย 1. ชัย Blues / 2. ป๊อบ หินเหล็กไฟ / 3. ต้น Dezember / 4. ชีพชนก ศรียามาตย์ / 5. ป้อง The Back Up / 6. โจ้ Balloon / 7. แมน Future / 8. นก พยุห์ / 9. โรเบิร์ต Spanish Guitar ส่วนทีมพูดพร่ำนำโดย วิโรจน์ ควันธรรม / สุกัญญา มิเกล / สัจจะ TV Champion / หนึ่ง Sleeper1 ฯลฯ
บรรณ บอกว่า “พูดพร่ำทำเพลง” มาจากชีวิตจริง เหมือนกับจะประชดนิดหนึ่งว่าร้องไปไม่ค่อยได้ตังค์ พูดไปเลยก็แล้วกัน นี่เป็นเรื่องจริงที่ไม่ตลกเลยสำหรับศิลปินที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ พวกเขามักจะได้กล่องมากกว่าเงิน แถมยังมี Mp3 และ CD เถื่อนแทรกเป็นยาดำยิ่งปวดร้าวไปกันใหญ่ จุดด้อยของค่ายเพลงเล็กๆ คือแรงหนุนทางการตลาดไม่มากพอ ขนาดแข็งๆอย่างเบเกอรี่ มิวสิค ยังต้องหันไปซบอก Sony BMG มาแล้ว ทางรอดของศิลปินในสังกัดค่ายเล็กคือ ต้องชัดเจนกับแนวเพลง และถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของตัวเองออกมาให้โดดเด่น
กลับมาที่คุณภาพเสียงชุดนี้ บันทึกกันด้วยระบบ 24-bit/96 kHz ไม่ธรรมดาสำหรับเพลงไทย ไดนามิคค่อนข้างจะดี ดุลน้ำเสียงเปิดโปร่ง ไม่จัดจ้านหรือ 3B (แบน บี้และบาง) มีช่องว่างช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีได้เหมือนกับเพลงฝรั่งแล้ว อิมเมจก็ขึ้นรูปมีตำแหน่งแห่งที่มั่งคงชัดเจน ถ้าจะเขียนแบบเอาใจช่วยเห็นจะต้องบอกว่าแค่นี้ก็ดีถมไปแล้วสำหรับเพลงไทย แต่ถ้าเทียบกับมาตรฐานของ “สเตอริโอ” แล้ว สิ่งที่ยังขาดไปคือแอ๊มเบี้ยนท์รายล้อมตัวโน้ตที่ขาดความกังวานไป ทำให้บางย่านความถี่มีอาการกร้าน และบางเพลงที่มีลีดกีต้าร์เป็นหลัก จะรู้สึกว่าเสียงแหลมต้นๆจะมีปริมาณมากไป ฟังแล้วจึงขาดสมดุลเสียงไปบ้าง และน่าจะบันทึกเสียงเบสส์ออกมาได้มีมวลมากกว่านี้ อย่างไรเสียสรุปได้ว่า นี่เป็นอัลบั้มที่ดีอย่างแรงในปี พ.ศ. นี้
****************
10 คำถามกับ บรรณ (อัลบั้ม พูดพร่ำทำเพลง) /คอลัมน์ Entertainment Talk จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ
1. อยากให้พูดถึงที่มาของแนวคิดในการทำอัลบั้มชุดนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอใหม่ จาก “เพลงร้อง” มาเป็น “เพลงพูด” มีแรงบันดาลใจ หรือมีต้นแบบในใจมาก่อนหน้าหรือไม่
+ตอนแรกเป็นเพียงความคิดเล่นๆจากเพลงแรกในอัลบัมนี้คือเพลง ทางเลือก แล้วก็ถามตัวเองต่อไปว่า เออ ทำไมเราไม่ทำเพลงพูดทั้งอัลบัมจริงๆสักชุดล่ะ เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแร็ป หรืออย่างคุณเพลิน พรหมแดน ก็จะมีร้องสลับด้วยตลอด แต่ความคิดนี้ลังเลอยู่เหมือนกัน ทั้งในเรื่องความแปลก(ที่วิทยุไม่เปิด) และยังมีปัญหาเรื่องเงินทุนด้วย จนกระทั่งเสร็จออกมาจนได้ครับ...
2. มีหลักเกณฑ์การเลือก “คนพูดเพลง” อย่างไร เพราะเห็นมีกันครบทุกเพศทุกวัย
+ไม่ได้นึกมาก่อนเลยครับ ว่าจะมีอายุตั้งแต่ 6 ขวบถึงอายุ 70 ปี น่าจะเป็นเรื่องเพลงที่แต่งออกมา พอไปเหมาะกับวัยไหน ผมก็จะไปควานหามา
3. นอกจาก “คนพูดเพลง” แล้ว ในภาคดนตรี มีนักกีตาร์ดาวเด่นของวงการมาถึง 9 คน เหตุใดจึงเลือกกีตาร์เป็นหลัก แทนที่จะเป็นเครื่องดนตรีชนิดอื่น
+พอได้แนวคิดการพูดนี้ ผมคิดว่าแนวร๊อคกีต้าร์ฮีโร่น่าจะเป็นอะไรที่ใกล้คนไทยมากที่สุดในการรับฟัง และมือกีต้าร์ร๊อคเก่งๆบ้านเราก็มีเยอะมาก ชุดนี้ถ้าเอาเสียงพูดออก ก็คงไม่ต่างกับเพลงบรรเลงกีต้าร์ร๊อค ซึ่งน่าจะฟังไม่ยากนะครับ
4. การรวมคนพูดเพลง-คนทำเพลงหลากหลายชีวิตในอัลบั้มเดียวกัน คงเหน็ดเหนื่อยและวุ่นวายในการจัดการน่าดู
+พอทำเสร็จผมคิดว่าคงไม่เอาอีกแล้วครับแบบนี้ เหนื่อยมากกกกกก ยังมีเบื้องหลังอีกเยอะครับ สำหรับคนพูดและมือกีต้าร์ที่เชิญแล้วไม่มา แต่ตรงนี้ก็ขอขอบคุณทุกแขกรับเชิญที่มาร่วมในอัลบัมนี้ทุกคน ประทับใจทุกคนมากๆเช่นกัน ทำให้หายเหนื่อยไปเยอะ
5. เป็นไปได้หรือไม่ว่า ด้วยลักษณะการนำเสนอที่แตกต่างไป ทำให้ 12 เพลงในอัลบั้มนี้มีโอกาสพูดถึงความเป็นไปของสังคม (เพลง อยากเป็นอย่างเขา) วัฒนธรรม (สาธุ... ประดิษฐ์) การเสียดสีเย้ยหยัน (ผู้เอ๋ยผู้ใหญ่) หรือการถ่ายทอดมุมมองปรัชญา (เจ้าลิงกับมะพร้าว, แล้วทุกสิ่งจะผ่านไป) ได้มากกว่าเพลงร้องโดยทั่วไป อยากทราบความรู้สึกของคุณระหว่างการทำงานชุดนี้ เปรียบเทียบกับผลงานเพลงที่ผ่านมา
+จริงๆแล้วมันก็พรั่งพรูออกมาตอนทำอัลบัมนี้ แต่ผมก็ตั้งใจให้มันเหมาะมากกับงานนี้ หลายๆเพลงอาจจะดูจริงจังเกินไปถ้าออกในนาม บรรณ .../อยากเป็นอย่างเขา ก็เจอบ่อยๆในข่าว /สาธุ...ประดิษฐ์ เป็นประสบการณ์ที่เห็นเด็กเดี๋ยวนี้ไหว้ไม่เป็นแล้ว ผมว่าตรงนี้ยังต้องมีอยู่นะ /ผู้เอ๋ย ผู้ใหญ่ มีหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ควรทบทวนก่อนว่าเด็ก /เจ้าลิงกับมะพร้าว เป็นเรื่องของความไม่ปล่อยวาง / แล้วทุกสิ่งจะผ่านไป ก็อยู่ในช่วงที่กำลังท้อแท้ เลยแต่งเพลงให้กำลังใจตัวเอง เผื่อจะมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย
6. มีนักร้องนักดนตรีคนใดอีกบ้างที่คุณคิดว่าเขาเก่งและต้องการร่วมงานด้วย
+โอ้โห มีเยอะครับ อาจไม่ใช่นักร้องนักดนตรีอย่างเดียว จะเป็นดาราหรือผู้ทรงคุณวุฒิสาขาอื่นก็ได้ ถ้าเผอิญเหมาะ แต่กับชุดนี้ก็ได้คนที่ต้องการหลายคนจนพอใจแล้ว
7. แนวเพลงที่ผ่านมาของคุณค่อนข้างหลากหลาย หากมีคนถามว่าเป็นศิลปินในแนวเพลงใด คุณจะตอบว่า ...
+สำหรับผม บรรณ ก็น่าจะเป็นพ๊อบแจ็ซ เน้นเรื่องเนื้อหาอีกมุมมองนึง
8. คุณน่าจะเป็นคนดนตรีอีกคนหนึ่งที่ขยันทำงานออกมาค่อนข้างถี่ ตั้งแต่ บรรณ บราซิล, สอ แซ็กซ์ , สำนวนสวนสัตว์ จนถึงงานล่าสุด ให้ข้อสรุปการทำงานของตัวเอง ทั้งหน้าและหลังฉากไว้อย่างไร
+ตั้งแต่อัลบัมบราซิลถึงสำนวนสวนสัตว์ คนจะมองภาพผมไปที่บอสซาโนวาและป๊อบแจ็ซ แต่จริงๆผมเป็นคนที่ฟังเพลงทุกแนวนะครับ ร๊อค,แจ็ซ,โฟล์ค,เวิรล์ดฯ มันผสมอยู่ในตัวผมตลอด เพียงแต่ตอนไหนจะดึงอะไรมาใช้ และอารมณ์บางครั้งอย่างทำฉีกไปจากแนวของบรรณ ก็ต้องหาศิลปินหรือในนามอื่นมารองรับ ไม่อยากมีรูปแบบที่ต้องยึดติดมากนัก
9. ด้วย ประสบการณ์จากการอยู่สังกัดใหญ่อย่าง อาร์เอส จนมาถึงการลงมือทำสังกัดอินดี้อย่าง ใบชา กรุ๊ป คุณมองอนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเราอย่างไร มีความหวัง หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างหรือไม่
+ผมมองเป็น 2 ส่วนนะครับ ส่วนหนึ่งคือภาครัฐ ที่ไม่ได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพลงที่ถูกออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ แทบทั้งหมดเป็นของนายทุนเงินหนา บทเพลงจึงวนเวียนอยู่อย่างที่เห็น การปราบปรามแผ่นเถื่อนไม่จริงจังและยังเป็นปัญหาหนัก ศิลปินและนักแต่งเพลงยังคงถูกนายทุนค่ายเอาเปรียบ อีกส่วนคือความรับผิดชอบของคนฟังที่ไร้ท์กันเอง ความหวังเห็นทีจะริบหรี่ อยู่ที่คนมีอำนาจ ใครล่ะจะเห็นความสำคัญของตรงนี้ แผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ 100 แผ่นกับยาบ้า 100 เม็ด ผมว่ามันทำลายสังคมไม่น้อยไปกว่ากันนะ ถ้ามองให้ลึก
10. คำถามสุดท้าย นอกจากเสียงเพลงในอัลบั้ม อยากให้คุณสื่อสารด้วยคำพูดเพื่อฝากไปยังคนฟังเพลงทั้งหลาย
+อยากให้คนฟังเปิดใจรับเพลงหลากหลายแบบที่เข้ามา และฟังอย่างมีศิลป์ด้วยการติดตามรายละเอียดที่มาที่ไปของเพลงนั้นๆ ความสุขของการฟังเพลงจริงๆคงไม่ใช่ฟังจากไฟล์เพลงเป็นร้อยๆแต่ไม่ซึบซับกับ ใดๆเลย ...ขอบคุณสำหรับทุกๆคนที่ซื้องานของผม ...พี่ๆเพื่อนๆน้องๆที่ช่วยสนับสนุนกันตลอด ...ทุกครั้งที่เริ่มแต่งเริ่มทำเพลง ผมได้พลังจากกำลังใจเหล่านี้ เพื่อทุ่มเทให้กับงานทุกกระเบียดนิ้ว