สำนวนสวนสัตว์ โดย ธานี โหมดสง่า /นิตยสารaudiophile (07-09-2007)
คนทำเพลงควรจะต้องมีคุณสมบัติของความ เป็นศิลปินเต็มตัว เพราะงานดนตรีก็ถือเป็นแขนงหนึ่งของศิลปะ สิ่งที่คนทำงานศิลปะทุกแขนงสมควรจะต้องมีอยู่ในสายเลือดก็คือ เสรีภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่เสรีภาพทางความคิดเท่านั้นที่จำเป็น แม้แต่เสรีภาพทางด้านการนำเสนอก็ควรจะมีรวมอยู่ด้วยในตัวของศิลปินทำเพลงทุกคน
ผมรู้จักผู้ชายคนนี้ครั้งแรกจากการ สัมภาษณ์พูดคุยกันหลังจากได้ฟังงานเพลงอัลบั้มแรกของเขาที่ชื่อว่า บรรณ บราซิล เมื่อปีที่แล้ว (2547) จึงได้รู้ว่าเขามีความคิดในการสร้างสรรค์งานเพลงที่น่าชื่นชม คือมองมันเป็นศิลปะ ไม่ใช่เชิงพานิชย์เต็มตัว ผมชอบมุมมองในการสร้างเพลงของศิลปินผู้นี้ มันเป็นด้านที่แปลก ไม่ค่อยจะมีใครมอง และเป็นความแปลกที่น่ารักซะด้วย ลองหามาฟังดูแล้วคุณจะเห็นว่าดนตรีในโลกส่วนตัวของบรรณ สุวรรณโณชินนั้นน่ารักน่าชังเพียงใด
งานอัลบั้มชุด สำนวนสวนสัตว์ นี้เป็นงานชุดที่สองของเขาที่เพิ่งจะออกมาวางแผงไม่นานมานี้เอง เขาเอาแผ่นตัวอย่างมาให้ผมถึงออฟฟิศ พร้อมกับข่าวความคืบหน้าของการต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองที่กำลังเข้มข้น
ผมได้เห็นถึงพัฒนาการของเขาที่เพิ่มพูน ขึ้นจากงานชุดที่แล้วอย่าง ชัดเจนผ่านเงาที่สะท้อนออกมาจากงานชุดที่สองนี้ อย่างแรกก็คือแพ็กเก็จจิ้งของแผ่นซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความใส่ ใจและตั้งใจจริงในการทำงานของผู้ชายคนนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้จะหาศิลปินไทยที่ทุ่มเททำอะไรขนาดนี้ได้ยากเต็มทีแล้ว
“..ภาพประกอบบนปกนั้นผมวาดเองครับ รายละเอียดทั้งหมดที่เป็นตัวหนังสือผมก็เขียนด้วยมือเอง เหมือนกับชุดที่แล้วนั่นแหละ.. คืออยากจะทำเอง พอเกิดไอเดียขึ้นมาก็อยากจะทำให้ออกมาเหมือนอย่างที่เราฝันไว้ คงต้องทำเองแหละครับถึงจะได้อย่างที่อยาก..” เขา พูดไปเรื่อยๆ ด้วยสีหน้าและแววตาธรรมดาๆ ไม่ได้รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นมันเป็นเรื่องที่ลำบาก หรือน่าเบื่อ ซึ่งถ้าคิดในเชิงพานิชย์แล้ว ทำไมจะต้องเสียเวลาไปกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้.. แต่เพราะเขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำมันคือพานิชย์นะซิ.. แต่มันเป็นการปั้นฝันในใจให้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันสามารถจับต้องได้จริงๆ นั่นทำให้เขาไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ทำในแง่ของความคุ้ม หรือตีค่าของงานที่ทำไปเทียบกับเงินซะทุกอย่าง
ทำเพราะใจรัก นั่นคงจะเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจนที่สุด..!
โดยส่วนตัวแล้วผมมีความชื่นชอบและยินดี ที่จะซื้องานดนตรีจากศิลปิน ที่ทำมันขึ้นมาด้วยมือของตัวเองมากกว่างานดนตรีที่ผ่านระบบการจัดจำหน่ายโดย คนกลางที่เป็นสังกัดใหญ่ๆ เพราะรู้สึกว่า งานดนตรีที่ซื้อมานั้นมันเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของศิลปินคนนั้นจริงๆ มิได้เกิดจากการชี้นำของฝ่ายวิเคราะห์ตลาดที่สังกัดจัดจำหน่ายยัดเยียดใส่ สมองมาให้ ยิ่งเป็นแผ่นซีดีที่ศิลปินลงมือประดิดประดอยขึ้นมาเองทุกอย่าง ตั้งแต่กล่องใส่และรูปแบบงานอาร์ตเวิร์คอย่างของบรรณชุดนี้ ก็จะยิ่งมีคุณค่าทางจิตใจสูงสำหรับคนซื้อ เข้าทำนองงานศิลป์ระดับแฮนด์เมดอะไรประมาณนั้น..!!
แต่อย่างไรก็ตาม สวยแต่รูปถ้าจูบไม่หอมก็ไม่ถือว่าสมบูรณ์แบบ แม้จะมีความตั้งใจเต็มเปี่ยม แต่ถ้าเนื้องานออกมาไม่ดีก็เท่านั้น..
ในการวิจารณ์ครั้งนี้ ผมแยกพิจารณางานของบรรณออกเป็นสองแง่มุม คือแง่คุณค่าของเพลง กับคุณภาพของการบันทึกเสียง ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานแบบเดียวกันกับที่ผมใช้ในการพิจารณางานของศิลปินคน อื่นๆ ทั้งไทยและเทศทุกชุดที่ผ่านมา ในแง่ของบทเพลงของอัลบั้มชุดที่สองนี้ผมว่าบรรณเขามีความหลากหลายทางอารมณ์ มากกว่าชุดที่แล้ว คือหากฟังแค่เผินๆ แล้ว แฟนดั้งเดิมของเขาก็จะสามารถสัมผัสถึงบุคลิกความเป็นตัวตนของบรรณออกมาได้ใน ทันที แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกอีกนิด คือตั้งใจฟังเพื่อจับต้องให้ถึง อารมณ์ ของเพลงให้มากขึ้นอีกหน่อย จะรู้สึกได้ว่าอัลบั้มชุดนี้มีระดับเฉดสีของอารมณ์ที่กว้างกว่าชุดที่ แล้วออกไปอีกระดับหนึ่ง คือไม่ได้มีแค่อารมณ์สนุกมาก, สนุกน้อย กับเศร้านิดๆ เหมือนชุดที่แล้ว แต่ในชุดใหม่นี้เขามีอารมณ์เศร้าแบบซึมลึกมาฝากคุณด้วย
ซึ่งฟังแล้วรู้สึกได้เลยว่าเพลงนี้แสดงระดับของอารมณ์ที่ แตกต่าง ไปจากเพลงอื่นๆ ที่เหลืออย่างชัดเจน เพลงนั้นคือเพลงที่ชื่อว่า ระลึก (แทรคที่ 6) บรรณ ร้องเพลงนี้ได้อารมณ์มากกว่าเพลงอื่นๆ สำหรับผมถือว่าเป็นเพลงที่เด่นมากที่สุดเพลงหนึ่งในอัลบั้มชุดนี้ถ้าพิจารณา ในแง่ของอารมณ์เพลง
กับอีกเพลงหนึ่งที่มีอารมณ์ใกล้ๆกัน คือเพลง โคลนนิ่ง (แทรคที่ 9) ซึ่งเป็นแทรคที่บันทึกเสียงแซ็กโซโซนกับเสียงเปียโนได้ดีมากแทรคหนึ่ง ส่วนเพลงที่แสดงอารมณ์สนุก ขี้เล่น ซึ่งเป็นตัวตนแท้ๆ ของบรรณที่เปิดฉากเอาไว้ตั้งแต่ชุดที่แล้วก็ยังมีอยู่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง สำนวนสวนสัตว์ (แทรคที่ 2) ที่มีลูกเล่นแพรวพราย,
เพลง ใช้หัวใช้เท้า (แทรคที่ 8) นั้นบรรณแอบเอาเนื้อหาเสียดสีที่แสบสันต์มาร้อยผ่านโครงสร้างของทำนองที่สละ สลวยจนคุณอาจจะเผลอเคลิ้มฟังจนลืมนึกไปว่ากำลังถูกเหน็บอยู่รึเปล่า? จากที่เคยพูดคุยกันตัวต่อตัว พบว่า เสียงของบรรณมีโทนที่สวยงาม กล่องเสียงของเขามีฮาร์มอนิกด้านล่างรองรับ ทำให้เสียงของเขามีบอดี้เป็นสามมิติ ไม่บางไม่ลอย โทนเสียงแบบนี้เหมาะมากกับเพลงช้าๆ อย่าง ชาเย็น (แทรคที่ 3) ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่ไพเราะมากสำหรับชุดนี้
ผมชอบเนื้อเพลงที่เขาคิดขึ้นมา และเพลงนี้ยังเป็นเพลงหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพัฒนาการที่ก้าวหน้าในแง่ ของการบันทึกเสียงได้อย่างชัดเจน
ในอัลบั้มชุดแรกนั้น (ชุด บรรณ บราซิล) คุณภาพเสียงโดยรวมก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากแล้ว แต่ชุดหลังนี้ดีมากขึ้นอีก เร้นจ์ของเสียงกว้างขึ้นกว่าเดิม ความถี่ต่ำลงได้ลึกมากขึ้น มีผลให้น้ำหนักของเสียงเบส รวมถึงเสียงโน๊ตต่ำๆ ของเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ (อย่างเช่นเสียงเปียโนมือซ้าย) มีบอดี้ และมีน้ำหนักดีขึ้น โดยเฉพาะเสียงในย่านทุ้มต้นๆ ( upper bass) ขึ้นไปจนถึงเสียงกลางตอนล่าง ( lower mid) ซึ่งเป็นช่วงความถี่ที่คอยย้ำจังหวะตบของเพลงจะมีน้ำหนักดีขึ้นกว่าชุดที่แล้ว ทำให้ฟังแล้วสามารถรับรู้จังหวะจะโคนของเพลงได้ชัดเจนขึ้น เคาะเท้าตามได้ง่ายขึ้น มันก็เลยฟังสนุกขึ้น (ไม่หลงจังหวะ)
อีกทั้งย่านเสียงดังกล่าวยังอยู่ในช่วง ที่เป็นเสียงลำคอของเขาพอดี ด้วย เมื่อมีปริมาณย่านนั้นมากขึ้น มีผลให้เสียงร้องของเขาฟังดูมีเนื้อมีหนังมากขึ้น ฟังแล้วรู้สึกเต็มอิ่มมากขึ้น (เสียงร้องในเพลง ชาเย็น กับเพลง แค่มอง บันทึกได้ดีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ)
อีกจุดหนึ่งที่พัฒนาได้ดีขึ้นก็คือใน ส่วนของเนื้อเสียง ซึ่งฟังออกได้ชัดว่าปลายเสียงแหลมของชุดที่สองนี้ทำได้ดีกว่าชุดแรก เนื้อเสียงแหลมฟังเนียนหูกว่า ละเอียดกว่า ไม่หยาบคมและแห้ง แต่อย่างไรก็ตาม เสียงแหลมของอัลบั้มชุดนี้ก็ยังไม่ถึงกับดีมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก เพราะเนื้อเนียนพอได้แต่ยังขาดฮาร์มอนิกหรือความกังวานไปหน่อย (ไม่ได้ใช้กลองจริง)
จุดเด่นในเพลงของบรรณอีกจุดหนึ่งที่เขา เคยบอกกับผมมาแล้วตั้งแต่ คราวที่ได้คุยกันเมื่อปีที่แล้วว่าเขาเองก็ให้ความสนใจในจุดนี้มาก นั่นคือ การวางเลย์เอ๊าต์ของเสียง ซึ่งภาษาเครื่องเสียงเรียกว่า “ซาวนด์สเตจ” หรือเวทีเสียง ซึ่งหากนั่งฟังในตำแหน่ง sweet spot คุณก็จะเห็นว่าแต่ละเพลงในอัลบั้มชุดนี้ได้มีการวางแผนในยการมิกซ์เสียงเอา ไว้ก่อนโดยคำนึงถึงการจัดวางตำแหน่งของเสียงอย่างเป็นระบบ แต่ละเสียงจะไม่มีการซ้อนทับกันจนมั่ว แต่จะมีการเกลี่ยตำแหน่งออกไปดดยรอบให้รู้สึกได้ถึงความสมดุลของสนามเสียง ที่มีครบทั้งกว้าง-ลึก และสูง
ไดนามิกดีพอสมควร เสียดายว่าเขาไม่ได้ใช้กลองจริงในการบันทึกเสียง ซึ่งถ้าใช้ก็น่าจะทำให้อารมณ์ของเพลงดีขึ้นไปกว่านี้อีกพอสมควรทีเดียว อย่างเช่นเพลง ระลึก นั้นจะรู้สึกได้เลยว่า ทางด้านอะเร้นจ์เม้นต์ของดนตรีมีโครงสร้างที่วางพล็อตเอาไว้ดีแล้ว มีช่วงของการนำและส่งอยู่ด้วย เสียแต่ว่าไดนามิกของเสียงดนตรีในช่วงนั้นมันไม่สวิงรับกันไปเนื่องจากไม่ ได้ใช้เสียงดนตรีจริง จึงปรากฏว่ามีอาการอั้นๆ ยั้งๆ ออกมาให้รู้สึกอยู่บ้างประปราย
แต่ก็ยังโชคดีว่าไม่ถึงกับทำให้อรรถรสของความเป็นดนตรีเสียหายไป..ความสมบูรณ์แบบไม่เคยมีอยู่จริงบนโลกใบ นี้ แม้งานชุดนี้ของบรรณ สุวรรณโณชินจะยังไม่ใช่งานที่ดีเลิศประเสริฐศรีไปซะทุกแง่ แต่ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกชื่นชมในความตั้งใจและผลงานที่ปรากฏออกมา แค่นี้ก็ดีมากพอสมควรแล้ว.. โดยเฉพาะเพลงไทย..!
*************
คอลัมน์ โลกบันเทิงดนตรี CD ข้างเครื่อง / นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 251 เดือน ม.ค. 2549 /โดย ปณิธาน หล่อเลิศวิทย์
บรรณ สุวรรณโณชิน เป็นใครคงไม่สำคัญเท่ากับว่า เขาแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปินเต็มตัวเมื่อฟังและดูทุกองค์ประกอบในซีดี ชุดนี้ แล้วก็เป็นศิลปินที่สามารถนำเราไปสู่ความรู้สึกอันรื่นรมย์ ที่ออกจะแล้งร้างอยู่ในวงการเพลงไทย แม้จะยังน่าสงสัยว่าหลังจากทำงานชุดนี้เสร็จแล้ว เจ้าตัวจะรื่นรมย์กับกระบวนการและผลลัพธ์ยอดขายแค่ไหน.....
บราซิล เป็นงานชุดแรกในสังกัดใหญ่ ที่สร้างชื่อและการยอมรับให้บรรณในแวดวงที่ไม่กว้างนัก อย่างที่เรารู้กันมานานแล้วว่า ทั้งกู๋และเฮียขายเพลงติสต์ๆ นีชๆ ไม่เป็น คราวนี้บรรณจึงลงทุนขายเอง (นอกเหนือจากแต่งเอง ร้องเอง เล่นดนตรีเอง โปรดิวซ์เอง วาดรูป-ทำปกเอง) และอาจจะเจ๊งเอง แต่ถ้าคนฟังชอบใจช่วยกันซื้อมากกว่าสี่พัน คนที่ดูแลเรื่องโปรโมทและมีเดียของเฮียของกู๋ ก็น่าจะมาเรียนรู้จากเขาดูบ้าง
สำนวนสวนสัตว์ เป็นเพลงเปิดและควรใช้กับการเป็นชื่อชุด บรรณ เอาสำนวนไทยเกี่ยวกับสรรพสัตว์มาร้อยเรียงกันบนลีลาครึกครื้นของแจ็ซที่ย้อน ยุคไปไกลถึงสมัยดิ๊กซี่แลนด์ ลีลาเพลงอารมณ์ดีของบรรณ ชวนให้นึกถึงงานของเฉลียงและจุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ในภาคของถ้อยคำอาจไม่คมคายเท่า แต่ก็มีมุกมีมุมที่สร้างคาแรกเตอร์ของตัวเอง การเขียนเนื้อไม่ได้มุ่งสัมผัสเชิงฉันท์ลักษณ์ แต่จังหวะน้ำหนักคำลงกับจะโคนลีลาดนตรีโดยไม่รู้สึกแปร่ง
ภาคดนตรีเป็นส่วนที่ บรรณ ทำได้ดีกว่า เป็นเพลงที่ได้รสอารมณ์แจ็ซ ไม่ใช่แค่เจือสีแต่งกลิ่น นอกจากเพลงที่เป็นชื่อชุด อาจไม่มีเพลงไหนโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ทั้งหมดให้อารมณ์การฟังที่ราบรื่น ไม่ติดขัด ไม่ชวนให้ข้ามแทร็ก เปิดแล้วก็ฟังไปได้ตลอด......
ถ้าจะถามถึงรอยตำหนิ ก็ขอบอกตรงๆเลยละกันว่า บราซิล ซึ่งเป็นเพลงซ้ำชื่อกับเพลงที่ใช้เป็นชื่อชุดที่แล้ว ออกจะขัดใจผมอยู่บ้าง เพราะผมเชียร์ฮอลแลนด์กับฝรั่งเศส และชอบกาแฟโคลัมเบียมากกว่า
**********
"สำนวนสวนสัตว์" จากนิตยสาร What AV /นิตยสาร WHAT AV ฉบับที่ 92 เดือน ธ.ค. 2548 /โดย อนุรักษ์
โดยส่วนตัวของผมแล้ว จะค่อนข้างเป็นคนที่ชอบลองอะไรแปลกๆใหม่ๆอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งการที่ชอบลองอะไรแบบนี้ก็มีอะไรที่ดีๆมาให้กับชีวิตอยู่เหมือน กัน เพราะอย่างน้อยๆก็ทำให้ผมได้รู้ว่า โลกเรายังมีอะไรดีๆซ่อนอยู่อีกเยอะ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องราวของเสียงเพลง
“สำนวนสวนสัตว์” เป็นชื่ออัลบั้มล่าสุดของ “บรรณ สุวรรณโณชิน” ศิลปินอิสระที่เคยมีผลงานมาตั้งแต่ปี 2539 และปี 2540 จนมาถึงปี 2547 เขาก็ได้รับการยอมรับโดยการติด 1 ใน 5 อัลบั้มยอดเยี่ยมจาก “คมชัดลึกอวอร์ด” กับอัลบั้มที่ชื่อ “บราซิล”
“สำนวนสวนสัตว์” เป็นอัลบั้มที่มีความสะดุดตาตั้งแต่ปกอัลบั้มที่ดูแล้วให้ความรู้สึกแปลกและ เก๋ดีไม่เหมือนใคร คล้ายๆกับหน้าปกของแบบเรียนภาษาไทยสมัยก่อน แต่ก็ได้อารมณ์ที่ดูสบายๆ อีกทั้งยังเป็นปกที่ใช้กระดาษทำให้ดูสวยดี ซึ่งบรรณเป็นคนที่ออกแบบและวาดภาพ รวมถึงเขียนปกด้วยลายมือของเขาเองทั้งหมดเลยทีเดียว
“สำนวนสวนสัตว์” ยังเป็นการทำงานของบรรณเองทั้งหมดอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ ร้องนำ ร้องประสาน แต่งคำร้อง ทำนอง เรียบเรียงดนตรี ดูแลการผลิต ร่วมมิกซ์เสียงและเสียงประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถของคนที่เป็นศิลปินอย่างแท้จริง
“สำนวนสวนสัตว์” เป็นชื่อเพลงในอัลบั้มนี้ที่ บรรณ แต่งโดยใช้ไอเยมาจากสำนวนต่างๆของไทยที่มีการใช้สัตว์ต่างๆมาแต่งเป็นเพลง ซึ่งมีความเก๋ของเพลงและน่าฟังทีเดียว นอกจากนั้นก็ยังมีเพลงต่างๆที่น่าสนใจอีกหลายๆเพลง เช่น เพลง”มองโลก” ที่เป็นเพลงที่ให้แง่คิดในการมองโลกที่ดี ให้น่าอยู่ ซึ่งเพลงนี้ก็ได้ “โอ๋ – ชุติมา แก้วเนียม” นักร้องสาวจากซิตี้คอรัส, อินสไปเรชั่นและดูวส์ โปรเจกต์มาร่วมแจมด้วย
“ระลึก” เพลงช้าที่น่าฟังอีกเพลงในอัลบั้ม ที่ใช้คำที่มีความหมายมากกว่าคำว่า คิดถึง และได้อารมณ์เหมือนกับชื่อเพลงฟังแล้วอินกับเพลงเลยทีเดียว
“ใช้หัวใช้เท้า” เพลงที่ใช้กับเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตไปวันๆของคนเรา กับอวัยวะในร่างกาย เพลงนี้ไอเดียบรรเจิดมาก
เพลงในอัลบั้มนี้ค่อนข้างจะเป็นเพลงที่ ใช้การเปรียบเทียบและใช้คำได้อย่างสวยงาม นอกจากนั้นยังค่อนข้างใช้คำที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม บวกกับดนตรีที่ฟังสบายๆในสไตล์ของบรรณ ที่เป็นดนตรีป๊อบแจ็ส มีกลิ่นอายของบอสซาโนวา บวกกับเร็กเก้นิดๆทำให้เพลงในอัลบั้มนี้น่าฟังมากขึ้น ให้ความรู้สึกสบายๆ เหมาะกับการฟังเพื่อพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
โดยรวมแล้วอัลบั้มสำนวนสวนสัตว์ เป็นอัลบั้มที่น่าฟังอีกอัลบั้มหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นงานของศิลปินอิสระจากค่ายเล็กๆ แต่ก็เต็มไปด้วยคุณภาพ ความมุ่งมั่น และความตั้งใจในการที่จะสื่อความรู้สึก ความคิด และจินตนาการผ่านเสียงเพลงมาให้คนฟังได้รับรู้เป็นอย่างดี
ผมว่าชีวิตของคนเราในปัจจุบันค่อนข้าง เหนื่อย....เหนื่อยกับการเดินตามกระแสของสื่อต่างๆ ที่ผ่านเข้ามายัดเยียดสิ่งต่างๆให้กับเรา ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ได้ตั้งใจที่ทำตาม แต่ด้วยแรงดึงดูดของสื่อต่างๆที่อาจทำให้เราต้องทำ ต้องชอบสิ่งนั้นๆไปโดยปริยาย ฉะนั้น ถ้าหากคุณมีเวลาให้กับตัวเองบ้าง ลองเปิดรับอะไรใหม่ๆด้วยตัวเองบ้าง ผมว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการใช้ชีวิตในแบบของคุณเองอย่างที่ไม่ต้อง เลียนแบบหรือตามแบบใคร ซึ่งน่าจะทำให้ชีวิตของคุณมีความสุขในแบบฉบับของคุณเองครับ
**********
กวนเพลงให้น้ำใส : สำนวนสวนสัตว์ / หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก / วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 / โดย นกระเบิด
หลังจากอัลบั้ม บราซิล ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผลงานที่ได้เข้าชิงอัลบั้มยอดเยี่ยมของ "คม ชัด ลึก อวอร์ดส" เมื่อต้นปีที่แล้ว ได้ข่าวว่า บรรณ หรือในชื่อเต็มว่า บรรณ สุวรรณโณชิน มีคดีความฟ้องร้องกับทาง อาร์เอส ต้นสังกัดเดิม ซึ่งตอนนี้ไม่แน่ใจว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน
แต่ที่แน่ๆ ดูเหมือนเจ้าตัวไม่อยากอยู่นิ่งนานนัก อัลบั้ม สำนวนสวนสัตว์ จึงปรากฏโฉมออกมา ผ่านสังกัดอินดี้ชื่อ ใบชา กรุ๊ป ซึ่งหากจำกันได้ ภายใต้ชื่อนี้ บรรณ เคยโปรดิวซ์และเขียนเพลงให้อัลบั้ม Sorsax ของ สอ ฐานันดร ชูประกาย มาหนหนึ่งแล้ว
เช่นเดียวกับอัลบั้ม บราซิล ผลงานใหม่ของ บรรณ เจ้าตัวยังเหมาตำแหน่งหลักๆ เช่นเดิม ตั้งแต่ แต่งเพลง, เรียบเรียงดนตรี ดูแลการผลิต ร่วมมิกซ์เสียง ไปจนถึงลงมือวาดภาพและออกแบบเขียนปกด้วยฝีมือตัวเอง
เห็นภาพไก่อยู่ตรงกลางอัลบั้ม อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดเชื่อมโยงไปกับกระแสไข้หวัดนก ที่กำลังเป็นเรื่องที่ชาวโลกกำลังวิตกกังวลล่ะกัน แต่เป็นการสื่อถึง สำนวนสวนสัตว์ เพลงหลักของอัลบั้มที่มีความยาวเกือบ 8 นาที ซึ่งเป็นการรวบรวม 30 สำนวนไทยเฉพาะที่เกี่ยวข้องหรือใช้สัตว์ในการอุปมาอุปไมย นับได้ 39 ชนิด มาผูกให้เป็นเพลง ขับเคลื่อนผ่านดนตรีที่กระเดียดไปทางดิกซีแลนด์แจ๊ส (วิธีการแบบนี้ชวนให้นึกถึงบางเพลงจากอัลบั้มชุดก่อน) ซาวนด์โดยรวมคล้ายเพลงสำหรับเด็ก ซึ่งครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนอาจนำเพลงนี้ไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน วิชาภาษาไทยได้กระมัง
ในอัลบั้มนี้ดู บรรณ พิถีพิถันกับงานบันทึกเสียงเป็นพิเศษ เริ่มกันตั้งแต่ พรีลูด หรือแทร็คนำเข้าอัลบั้มก่อนเข้าสวนสัตว์ ที่เป็นเสมือนการทดสอบระบบสเตอริโอของเครื่องเสียง มีการแยกลำโพงซ้าย-ขวา เพื่อเช็คความสมดุลของแชนแนลทั้งสอง
เนื่องจากเนื้อที่จำกัด จึงขอพูดถึงบางเพลงเท่านั้น อย่าง ชาเย็น เป็นเพลงฟังสบาย ฟอร์มคล้ายๆเพลงไทยสมัยเก่า ชื่อเพลงกับเรื่องราวของเพลง ด้านหนึ่งเป็นการเล่นคำ (พ้องเสียง) แต่ไม่พ้องความหมาย (เช่นเดียวกับเพลง โคลนนิ่ง)
แค่มอง มีช่วงอินโทรกระเดียดไปทางแร็กไทม์ เนื้อหากวนๆ บ่นๆ ตามสไตล์ของ บรรณ ซึ่งบางคนอาจจะคุ้นชินมาจากชุดก่อน ไฮไลท์ของเพลงนี้ อยู่ตรงโซโลด้วยเสียงร้องปาก ตามด้วยโซโล่ของมิวท์ทรัมเป็ตฝีมือการบรรเลงของ ปลาทอง เกรียงไกร สันติพจนา
เป็นที่สังเกตว่าอัลบั้มนี้มีนักดนตรีฝีมือดีของบ้านเรามาร่วมงานกันหลายคน อาทิ ป่อง เทอดศักดิ์ วงศ์วิเชียร, เกี๊ยก ออโตบาห์น ฯ
มองโลก เป็นบอสซาโนวาที่ชวนฝันในเมืองกรุง ให้ความเยือกเย็น และอารมณ์ดี (เจียนบ้า) ลองพิจารณาจากตอนหนึ่งของคำร้องระบุ "..คนที่กดแตรด่า ฟังแล้วคล้ายๆ กับเพลงโดนใจ..." ทางด้านภาคดนตรีผสมกันลงตัวดี ทั้งการโซโล่ของคีย์บอร์ดและเทเนอร์ แซกโซโฟน (อยากรู้ว่า Mr.Kosep คือคนเดียวกับ Mr.Koh Saxman หรือไม่) ขณะที่ ธรรมชาติขาดเธอ มีโทนคล้ายๆ กัน
ฟังเผินๆ คิดว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับผักที่ชื่อ หัวไชเท้า แต่ ใช้หัวใช้เท้า อิงกลิ่นอายดนตรีอินเดียน ตั้งแต่ซาวนด์จำลองเสียงซิตาร์ในท่อนอินโทร (รวมถึงท่อนคอรัส) ก่อนจะคลี่คลายไปสู่ฟอร์มเพลงป๊อปทั่วไป เป็นเพลงกวนๆ และอิงสามัญสำนึกเป็นที่ตั้ง (เช่นเคย)
สำนวนสวนสัตว์ เป็นอีกความพยายามหนึ่งของนักร้อง-นักแต่งเพลงที่ค้นหาความแปลกใหม่ให้แก่วง การเพลงไทย ลงตัวบ้างไม่ลงตัว แต่อย่างน้อยความพยายามของเขาก็นับเป็นสิ่งที่ค่าแก่การติดตาม
ชื่อศิลปิน : บรรณ สุวรรณโณชิน ผลงาน : สำนวนสวนสัตว์
สังกัด : ใบชา กรุ๊ป
ความยาว : 12 แทร็ค 62.08 นาที
ภาพรวมอัลบั้ม : เพลงไทยร่วมสมัยในแบบป๊อปเจือกลิ่นแจ๊ส, บอสซาโนวา ด้วยรูปแบบเฉพาะตัว
คุณภาพเสียงร้อง : 7 (เต็ม 10)
คุณภาพวัตถุดิบ(ตัวเพลง) : 7
คุณภาพดนตรี : 8
ความคุ้มค่ากับเงิน : อุดหนุนได้
************
นิตยสาร DDT
ยินดีต้อนรับสู่สารบรรณ(เทิง) By พัสวรรณ ศรีลาน
สำนวนสวนสัตว์ ยินดีต้อนรับ
ราคาเข้าชม (ทางหูและทางใจระคนทางจินตนาการ) 250 บาท
สิ่งที่จะได้เมื่อจ่ายเงินแล้ว บัตรเข้าชมในรูปแบบคอมแพ็กต์ดิสก์ อ่านได้ทั้งคอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นซีดี บัตร ดังกล่าวบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษที่หนาและแข็งแรงกำลังดี ที่สำคัญลวดลายภาพวาดระบายสีในตัวกล่องทั้งข้างนอกข้างในควรค่าแก่การสะสม ของคุณหนูและครอบครัว ด้านในกล่องมีคู่มือการเข้าชมเข้าฟังและเข้าใจในแบบที่มีลวดลายภาพวาดระบาย สีที่ควรค่าแก่การสะสม (อีกแล้ว) แถม ให้ว่าน่ารักและน่าจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิด เขียน วาด และระบาย ชอบสำนวน รักสวนสัตว์แก่คุณหนูไม่น้อย ที่สำคัญสัตว์เยอะมากนะจ๊ะพี่น้อง
ของแถมอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับใครชมใครฟังใครคิดใครติดใจอะไรแล้วได้อะไรกลับไป ถ้า ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าชมหรือไม่ และไม่ได้รีบร้อนไปไหน ขอเชิญแวะอ่านแผ่นป้ายที่กล่าวถึงผู้สร้างสำนวนสวนสัตว์ตลอดจนเรื่องราวและ ความคิดเห็นเกี่ยวกับสวนสัตว์แห่งนี้ก่อนได้ ตรงนี้เลย
(ข้อควรระวัง: แผ่นป้ายนี้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์และองค์กรที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ตรวจ โปรดใช้วิจารณญาณและหัวใจในการอ่าน)
บรรณ สุวรรณโณชิน ผู้สร้างสำนวนสวนสัตว์ คือ คนเดียวกับบรรณที่ออกอัลบั้มบราซิลในสังกัดอาร์.เอสโปรโมชั่น จนเป็นที่รู้จักในนามบรรณ บราซิล สำหรับบางคนอาจจะรู้จักเขาในฐานะนักดนตรีอิสระมาก่อนหน้านั้น สำเนียงดนตรีของเขามีความเฉพาะตัวมากพอๆ กับการผสมผสาน ทั้ง ป๊อป แจ๊ส สไตล์แร็กไทม์ และสไตล์คนอารมณ์ดี ความคิดดี ภาพรวมของเพลงก็ฟังง่ายดี
สำหรับอัลบั้ม สำนวนสวนสัตว์นั้น เป็นการทำงานในสังกัดใบชากรุ๊ป ซึ่งก็เป็นสังกัดของเขาและเพื่อน (ก่อนหน้านี้มีอัลบั้ม Sorsax ของฐานันดร ชูประกาย (สอ) ที่บรรณโปรดิวซ์และเขียนเพลงให้) ใน อัลบั้มนี้ บรรณ ทำหน้าที่มากมายเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นเขียนเพลงทั้งคำร้อง ทำนอง เรียบเรียงดนตรี โปรดิวซ์ ร้องนำ ร้องประสาน เรื่อยไปถึงวาดภาพและออกแบบเขียนปก ฯลฯ จึงไม่แปลกที่สำเนียงและรูปลักษณ์งานจะมีความเป็นตัวเขาอยู่เต็มเปี่ยม โดย ในคราวนี้สีสันที่เพิ่มเข้ามาในทางดนตรี ก็ได้แก่ ความหลากหลายที่มากขึ้น กลิ่นบอสซาโนว่าที่เข้มขึ้น แจ๊สมากขึ้น อิมโพรไวส์มากขึ้น สรรพเสียงสำเนียงสวนสัตว์มากขึ้น หากแต่องค์ประกอบทางป๊อปและสไตล์แร็กไทม์ รวมไปถึงลักษณะต่างๆ ทางแจ๊สยังคงประสานกันได้ฟังง่าย ไม่ประดักประเดิดในทางของเขา
แต่ถ้าคนที่ไม่ชอบทางอารมณ์ดี มีสาระ มีฝีมือ และหาไม่ง่ายในตลาด อาจจะไม่ถูกใจ ใน เรื่องเนื้อหาและความคิดที่นำเสนอ ผู้ชายคนนี้คิดเยอะพอๆ กับขยันเยอะ และถ่ายทอดออกมาได้เรียบง่ายทั้งที่ใช้ลูกเล่นเยอะและมีรายละเอียดเยอะ สนุกเยอะ เนื้อหาที่พูดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวคิดล้วนๆ อย่างสำนวนสวนสัตว์ ก็สอดร้อยได้อย่างที่เรียกว่าย่อยไม่ยาก และทำไปได้อย่างไร สามสิบสำนวน สามสิบเก้าสัตว์ แบบไม่มั่ว แถมมีเสียงประกอบเสริมบรรยากาศให้ทุกสำนวนเลย (ดิ๊กซี่แจ๊สก็รองพื้นได้น่ารักดี) เอา กับเขาสิ จบแบบวกเข้าทางป๊อปได้เสียด้วย ถ้าใครว่าเพลงนี้จงใจไปหน่อย ธรรมชาติขาดเธอ หรือ แดดหาย ธรรมชาติเกินไปนิด หรือ มองโลก บอกกันโต้งๆ เกินไป ก็มี แค่มอง ชาเย็น ใช้หัวใช้เท้า โคลนนิ่ง ที่ทั้งคิดทั้งขำทั้งรัก เพราะมีอะไรให้คิด คิดแล้วทั้งได้และได้ขำ รวมถึงเรื่องรักทางป๊อป ก็มี (เอากับเขาสิ) การ ใช้คำและการมองคำของผู้ชายคนนี้ มีแง่มุมที่ทำให้เขาไปต่อยอดได้ในแบบเหลือเชื่อ แล้วบางครั้งมันก็ง่ายเหลือเชื่อที่ทำไมเราคิดไม่ถึง
ส่วนเสียงร้องถึงจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็มีวิธีที่จะทำให้มากอารมณ์ มากสีสัน เข้ากับตัวเพลง และเขาก็เข้าใจทำเพลงที่หลบข้อจำกัดของเสียงร้องแล้วทำให้โดยรวมฟังแล้วดี ได้ สนุกได้ แต่ยังมีบ้างที่หลบไม่เนียน และบางเพลงยังใช้การลากยาวจนรู้สึกว่าย้ำจุดอ่อนของเสียงมากไปหน่อย
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดทั้งมวลในสำนวนสวนสัตว์ก็ให้บรรยากาศแห่งสวนสัตว์ที่เดินชมได้ เรื่อยๆ สบายๆ ถ้าแดดร้อน เหนื่อยก็พัก หรือเผลอหลับใต้ต้นไม้ได้บ้าง นานๆ ทีจะมีหินให้เดินสะดุด แต่ก็เพิ่มอรรถรสในการเดิน แถมมีทัศนียภาพที่หลากหลายต่างจากสวนสัตว์อื่น แต่อุปสรรคที่อาจจะทำให้หลายคนไม่เลือกเดินเข้าสวนสัตว์นี้อาจจะเป็นเพราะ หน้าตาที่จงใจเป็นสำนวนสวนสัตว์ หน้า ปกวาดระบายสีขนาดกล่องยากันยุงที่อาจจะเหมาะให้เด็กยุ่งมากกว่า แต่จริงๆ แล้วถ้ามองอีกมุมนี่คืออีกหนึ่งวิธีในการนำเสนองานและทักษะในการออกแบบ วาด และระบายสีก็เข้าทีไม่แพ้ทักษะการระบายเพลง