กวนเพลง : "แซ็ก" กับ "เสียงร้อง" ของฐานันดร /
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2548 /โดย นกระเบิด
ก่อนสงกรานต์ ผมรู้สึกแปลกๆ กับอัลบั้มชุดหนึ่ง อาจจะอธิบายด้วยถ้อยคำได้ยาก จึงขอลำดับความคิดแล้วนำมาถ่ายทอดประสบการณ์การฟังไว้ในคอลัมน์นี้
สอแซ็ก (Sor Sax) คือชื่ออัลบั้มดังกล่าวครับ เจ้าของผลงานคือ "สอ" ฐานันดร ชูประกาย นักแซกโซโฟนรุ่นใหม่ ศิษย์เก่าใต้ร่มนนทรี และยังเป็นศิษย์ฝีมือดีของ อ.แฉะ นักแซกโซโฟนรุ่นตำนานคนหนึ่งของเมืองไทย หลายคนอาจเคยรู้จักเสียงร้องของเขาผ่านเพลง ดาวมองพระจันทร์ มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกแปลกๆ อย่างหนึ่ง ระหว่างการฟังอัลบั้มของ สอ อยู่ตรงที่เสียงแซกโซโฟนของเขาแสดงบทบาทน้อยกว่าที่คาด ขณะที่ปรากฏเสียงร้องของสอทุกเพลง (ยกเว้นเพลงบรรเลงปิดอัลบั้ม) ซึ่งโดยความคิดส่วนตัวของผม เห็นว่า แม้ สอ จะเป็นคนร้องเพลงได้ แต่ยังน่าจะอาศัยการเคี่ยวกรำมากกว่านี้
โดยคาแรคเตอร์ของเสียง สอ ร้องเพลงช้าได้น่าฟังพอสมควร เพลงอย่าง วาดภาพ หรือ มันไม่ง่าย เป็นต้น แต่ในเพลงที่ต้องใส่ฟิลลิ่งดีดดิ้นหน่อย ผมว่ายังขาดอารมณ์ดนตรีตรงนั้น เช่น อย่าไปหาเลย ซึ่งมันด้านๆ ทื่อๆ ไปหน่อย เหมือนดนตรีวิ่งไปแล้ว แต่นักร้องกำลังเดินทอดน่องอยู่
พูดง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ ผมฟังเขาเล่นแซ็กได้เป็นธรรมชาติมาก ขณะที่การร้องยังบ่งบอกถึงความตั้งอกตั้งใจ จนดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร เห็นแบบนี้แล้ว ก็ต้องเชียร์ให้ "บรรเลง" มากกว่า "ร้อง" ล่ะ ไม่ต้องสงสัยว่า เพลงบรรเลง วาดภาพ คือแทร็คที่ผมชื่นชอบมากที่สุด อาจจะเป็นป๊อปแจ๊สที่เจือจางให้ฟังสบาย จึงค่อนไปทาง "ไลท์ มิวสิค" อยู่มาก แต่อารมณ์ของแซ็กนี่ต้องนับว่า เนียน จริงๆ วิธีการระบายลม และการขับเคลื่อนตัวโน้ตนี่ ฝรั่งเรียกว่า ลิริคกัล (lyrical) คือในตัวโน้ตนั้นมีเรื่องราวของตัวเองอยู่แล้ว
โดยภาพรวมของอัลบั้ม สอ ฐานันดร ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอเบื้องหน้าก็จริง แต่บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคือ บรรณ บราซิล ซึ่งทั้งแต่งคำร้อง-ทำนอง เรียบเรียงดนตรี และเป็นโปรดิวเซอร์ สุ้มเสียงของดนตรีที่ออกมา ด้านหนึ่งจึงกระเดียดไปละม้ายคล้ายคลึงกับอัลบั้มของ บรรณ บราซิล ในบางมิติ นั่นคือการสะท้อนถึงความสนใจในแนวดนตรีที่กว้างขวางหลากหลายเพลงอย่าง ดาว (เลิก) มองพระจันทร์ เห็นลายเส้นของ บรรณ ชัดเจนเลยครับว่าเขาถนัดในแนวแบบนี้มากเพียงใด
ด้วยเหตุนี้ในอัลบั้มจึงมีซาวนด์แปลกๆ ที่ไม่ค่อยปรากฏในวงการเพลงบ้านเรานัก ตั้งแต่เพอร์คัสชั่นแบบแอฟริกันในเพลง เด็กมีปัญหา หรือมู้ดของเพลงโซลใน อย่าไปหาเลย หรือแม้กระทั่งอารมณ์โฟล์คจังหวะวอลท์ซ แนวทำนองแบบไอริชใน น้ำตา เป็นต้น
ในด้านดนตรี ผมว่าค่อนข้างพิถีพิถันทีเดียว แม้กระทั่งในเพลงโทนป๊อปส่วนมากในอัลบั้ม หากฟังอย่างตั้งใจสักหน่อย คุณจะพบรายละเอียดของการเติมเสียงต่างๆ เข้ามา แต่คำร้องของเพลงยังน่าจะมีการขัดเกลามากกว่านี้ ตั้งแต่ เสียงวรรณยุกต์ของคำ กับตัวโน้ตที่กำกับ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นโจทย์ยากที่นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ เพื่อที่ในอนาคต เราจะได้ฟังคำว่า "ประสบการณ์" จริงๆ แทนที่จะเป็น "ประสบก๊าน" หรือ "รอ" แทนที่จะเป็น "ร้อ"
นอกจากนี้ คำร้องในบางท่อนอาจจะแก้ไขด้วยการลดใช้คำฟุ่มเฟือย เพื่อให้เพลงสละสลวยขึ้น กระชับขึ้น เพื่อทำให้ทุกคำที่เลือกใช้มีความหมายมากขึ้น เช่นในเพลง พ่อ "ชาตินี้ชาติหน้าถ้าหากมี จะเป็นลูกพ่อตลอดไป" ผมคิดว่า "ถ้าหากมี" ซึ่งเป็นประโยคเงื่อนไข ทำให้อารมณ์เพลงสะดุดลง ไม่ซาบซึ้ง ถ้าเปลี่ยนไปใช้คำอื่น สื่อความหมายใกล้เคียงกัน โดยไม่ต้องขยายความตรงนี้ น่าจะฟังราบรื่นกว่านี้
หวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ในอัลบั้มชุดหน้าครับ
ชื่อศิลปิน : ฐานันดร ชูประกาย ผลงาน : สอ แซ็ก (Sor Sax)
สังกัด : ใบชากรุ๊ป
ความยาว : 12 แทร็ค 50.14 นาที
คุณภาพเสียงร้อง : 6.5 (เต็ม 10)
คุณภาพวัตถุดิบ (ตัวเพลง) : 6.5
คุณภาพดนตรี : 7.5
ความคุ้มค่ากับเงิน : ช่วยกันอุดหนุนอินดี้เถอะครับ